Pages

Sunday 8 June 2014

เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด: เซลล์วิเศษ หรือไม่

เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด: เซลล์วิเศษ หรือไม่
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน

                ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมากันแล้วไม่ว่าจะทางสื่อโทรทัศน์ หรือหนังสือต่างๆ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ทีท่านได้ยินหรือได้อ่านมาก็จะเป็นเรื่องราวของคนกันครับ มาวันนี้ลองมาทำความเข้าใจกับเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในสัตว์เลี้ยงกันบ้างครับ
            เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดคืออะไร


เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Haematopoietic stem cell) นั้นเป็นเซลล์ตั้งต้น หรือจะเรียกว่า เป็นพ่อแม่ของเซลล์เม็ดเลือดแดง (red blood cell) และเม็ดเลือดขาว (white blood cell) ในร่างกายก็ว่าได้  เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้นมีหน้าที่เพิ่มจำนวน และเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว รวมทั้งเกล็ดเลือด (platelet) หลังจากนั้นเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด จะออกจากไขกระดูกเพื่อกระจายไปตามส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อทำหน้าที่ของมัน
 โดยเซลล์เม็ดเลือดแดงนั้นจะทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจน เพื่อไปเลี้ยงเซลล์อื่นๆในร่างกาย (เซลล์ทุกชนิดต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในการอยู่รอด และทำงานให้สมบูรณ์ในร่างกาย) ส่วนเซลล์เม็ดเลือดขาวนั้นจะทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อต้านสิ่งแปลกปลอมรวมทั้งเชื้อโรคที่เข้ามาสู่ร่างกายของเรา เกล็ดเลือดนั้นจะช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดเราหยุดไหลเวลาที่เกิดเลือดออก  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้นถือเป็นเซลล์ที่มีความสำคัญมากในร่างกาย ถ้าเกิดความผิดปกติไปก็จะทำให้สัตว์เสียชีวิตได้ครับ
                เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในร่างกายสัตว์นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบในคนและสามารถพบได้ในสองแห่ง หนึ่งก็คือ ที่ไขกระดูก (bone marrow) และอีกที่ก็คือ ทีสายสะดือของสัตว์แรกเกิด
                การรักษาโรคด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด 
จริงๆแล้วเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคใดๆได้โดยตรง แต่จะใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆในการรักษาโรค สำหรับโรคที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการทั่วโลกที่สามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดร่วมกันในการรักษาโรคก็คือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวเท่านั้น เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukaemia) โรคไขกระดูกเสื่อม เป็นต้น
                โรคความผิดปกติของเม็ดเลือด และไขกระดูก นั้นสามารถพบได้ทั้งในสัตว์เลี้ยงและในคนครับ ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคนี้ทั้งสัตว์และคนก็จะคล้ายๆกันก็คือ ส่วนใหญ่ก็มีอาการซีด ติดเชื้อง่าย เลือดออกง่าย และอาจพบจ้ำเลือดตามส่วนต่างๆของร่างกาย เป็นต้น สำหรับการรักษาโรคจะใช้หลักการคือ กำจัดเซลล์เก่าที่ผิดปกติไปและปลูกถ่ายเซลล์ใหม่เข้าไปแทน
การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการช่วยในการรักษาโรคในสัตว์เลี้ยงนั้นในปัจจุบันมีการทำแค่ในสุนัขเท่านั้นครับโดยเป็นเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากไขกระดูก และเท่าที่มีการรายงานก็จะทำที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราวๆ ล้านกว่าบาทครับ
ขั้นตอนในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากไขกระดูกในการรักษาโรค
ในเกือบทุกขั้นตอนของการรักษาสุนัขอาจจะต้องวางยาสลบ หรือยาซึมเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยที่สุดครับ โดยมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1การกำจัดเซลล์เก่าที่ผิดปกติ
จะมี 2 วิธี คือ การใช้รังสีรักษา (Radiotherapy) หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า การฉายแสง และการใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่คนไทยเรียกว่าการฉีดยาคีโม
ขั้นตอนที่ 2 การเก็บเซลล์ต้นกำเนิด
การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเพื่อการรักษานั้นปัจจุบันใช้วิธี การเก็บโดยตรงจาก ไขกระดูก วิธีนี้จะทำได้เร็ว แต่เจ็บ หรือ เก็บจากกระแสเลือด โดยวิธีนี้สุนัขจะไม่ค่อยเจ็บ แต่จะต้องมีการฉีดยากระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดออกมาที่กระแสเลือดเยอะๆ และจะต้องมีเครื่องมือราคาแพงช่วยในการเก็บเซลล์
ขั้นตอนที่ 3 การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
ขั้นตอนนี้เป็นการปล่อยเซลล์ต้นกำเนิดสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ เพื่อไปทดแทนเซลล์เก่า
ขั้นตอนที่ 4 การพักฟื้น
การพักฟื้นจะต้องทำในโรงพยาบาลใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน หรือมากกว่านั้น จนกว่าสุนัขจะแข็งแรงกลับบ้านได้
ขั้นตอนที่ 5 การติดตามการรักษา
เมื่อสุนัขกลับบ้านแล้ว ก็จะได้รับยาไปกิน และจะต้องกลับมาตรวจร่างกายเป็นประจำ
                ความเสี่ยงในการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
ความเสี่ยงในการรักษานั้นที่สำคัญมีอยู่ในสองขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก คือการกำจัดเซลล์เก่า เพราะการฉายแสงหรือการทำคีโมนั้นไม่ได้ทำแค่เซลล์ที่ผิดปกติตายเท่านั้น แต่จะทำให้เซลล์ปกติหลายชนิดทั้งที่อยู่ที่ไขกระดูกและอวัยวะอื่นเสียหายด้วย ดังนั้นสัตว์ป่วยที่ได้รับการรักษาจะค่อนข้างอ่อนแอและมีอาการข้างเคียงเยอะ เช่น ผิวแห้ง ผมร่วง อาเจียน และท้องเสีย เป็นต้น บางครั้งสัตว์ก็อาจจะเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดได้
        ขั้นตอนที่เสี่ยงอันดับที่สองก็คือ ความเข้ากันของเซลล์ต้นกำเนิด ในบางกรณีเราสามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดของสุนัขที่ป่วยมารักษาตัวเองได้ วิธีนี้ก็จะลดความเสี่ยงตรงนี้ไป แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะต้องใช้เซลล์ต้นกำเนิดของสุนัขตัวอื่น ที่เป็นพี่น้องกันครับ โดยจะต้องมีการทดสอบทางห้องทดลองก่อนว่ามีความเข้ากันหรือไม่อย่างไร เพราะโอกาสที่จะเข้ากัน (คำว่าเข้ากันนั้นหมายความว่ามีความปลอดภัยอยู่สูงครับ) นั้นก็มีอยู่ประมาณ 1 ใน 4 ครับ ก็จะประมาณว่า ถ้ามีพี่น้องอยู่ 4 ตัว ก็อาจจะเจอ 1 ตัว ที่เซลล์ต้นกำเนิดเข้ากันได้ครับ ถ้าไม่เข้ากันแล้วปลูกถ่ายก็จะเกิดการต่อต้านจากร่างกายได้ส่งผลให้สุนัขเสียชีวิตได้ในที่สุด
                ระวังโฆษณาเกินจริง
สิ่งที่ต้องแจ้งให้กับผู้อ่านได้เข้าใจกันนะครับ ก็มีอยู่ สองสามอย่างครับ
1.       ประเทศไทยยังไม่มี หรือไม่สามารถรักษาสุนัขด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนะครับ
2.       การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากสายสะดือแช่แข็งไว้ใช้ในอนาคตยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการสัตวแพทย์นะครับ
3.       เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดรักษาได้แต่โรคเม็ดเลือดนะครับ โรคอื่นยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน และถ้าหากเอาไปใช้มีความเสี่ยงสูงครับ