Pages

Sunday 7 June 2015

ปลวก...สัตว์ที่น่ารังเกียจ

  เมื่อพูดถึง ปลวก ผมเชื่อว่าหลายคนคงขยะแขยง และรังเกียจปลวก บางครั้งคนไทยยังใช้คำว่าปลวกมาด่า ต่อว่า คนที่พวกเขารังเกียจด้วย วันนี้เรามาทำความรู้จักปลวกกันครับ
ปลวก ภาษาอังกฤษเรียกว่า termite เป็นสัตว์ที่มีหน้าที่สำคัญทางนิเวศน์วิทยา โดยทำหน้าที่ย่อยสลาย ต้นไม้ และสิ่งมีชีวิตที่เน่าเสีย หากไม่มีปลวก โลกเราก็คงเต็มไปด้วยซากตกไม้ ซากสัตว์และขยะชีวภาพมากมาย นอกจากนี้ปลวกยังเป็นสัตว์ที่สำคัญของห่วงโซ่อาหาร โดยจะเป็นอาหารของพวก กบ และนกด้วย


ในประเทศไทยพบปลวกอยู่ประมาณ 200 ชนิด แต่จะมีแค่ 10 ชนิดเท่านั้น ที่เข้าทำลายอาคารบ้านเรือน
ปลวกเป็นสัตว์สังคม มีการแบ่งแยกหน้าที่กันทำงานอย่างชัดเจน และทุกตัวก็มีการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีที่คนเราควรจะเลียนแบบปลวก เราสามารถแบ่งปลวกเป็น 3 วรรณะ หรือเรียกง่ายว่า 3 ลำดับทางสังคมก็ได้ครับ
  • วรรณะกรรมกร หรือ ปลวกงาน ทำหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยงปลวกอื่นๆ ดูแลรักษาไข่ สร้างรัง เป็นประชากรที่มากที่สุดของปลวก (90 เปอร์เซ็นต์) 
  • วรรณะทหาร ทำหน้าที่ปกป้องรัง และชายแดนของปลวก มีเขี้ยวที่แข็งแร็งมาก
  • วรรณะสืบพันธุ์ ก็จะแบ่งเป็น  ตัวอ่อนที่รอเป็นแมลงเม่า (nymph) แมลงเม่า ราชินี และราชาปลวก แมลงเม่าเป็นระยะที่ปลวกมีปีกบินออกจากรังเพื่อผสมพันธุ์ หนึ่งในนั้นก็จะกลายเป็นราชา และราชินีปลวก เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
                                                             


ปลวกสามารถทำลายอะไรได้บ้าง
  • ต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่
  • ผลิตภัณฑ์จากไม้ อาคาร ส่ิ่งก่อสร้าง
  • กระดาษ และพลาสติก
  • ถึงแม้ปลวกจะไม่กินปูน แต่มันก็มีพลังมากพอที่จะกัดกร่อนปูนเพื่อทำเป็นทางเดินเพือหาอาหาร
จุดอ่อนของปลวกคือผิวมันบอบบาง หากมันสัมผัสกับแสงและอากาศสักพักก็จะตาย ดังนั้นปลวกจะต้องเอาดิน เอาไม้ที่มันย่อยแล้วมาทำเป็นทางเดินเพื่อปกป้องมัน



ว่ากันว่า ที่ได้มีไม้ มี แมงเม่า สักพักก็จะมีปลวก ดังนั้น การกำจัดและป้องกันปลวกต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะมันจะกลับมากินบ้านเรา เมื่อมันมีโอกาส



รวบรวมข้อมูล โดย 
อ.ดร.น.สพ.เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล








เอกสารและข้อมูลอ้างอิง






Tuesday 7 April 2015

เซลล์ต้นกำเนิดกับการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ได้สัตว์เลี้ยงไฮเทค

เซลล์ต้นกำเนิดกับการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ได้สัตว์เลี้ยงไฮเทค
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน

            ในร่างกายของคนเรานั้นประกอบไปด้วยอวัยวะหลายๆชิ้นมาประกอบกัน ภายในอวัยวะนั้นก็จะมีเซลล์หลายชนิดอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่มาก และภายในเซลล์นั้นจะมี พันธุกรรม (Genome) เป็นหน่วยเล็กๆในเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของเซลล์ และหน่วยเล็กในพันธุกรรมจะมีชื่อเรียกว่า ยีน ซึ่งมีอยู่หลายยีน แต่ละยีนก็มีหน้าที่แตกต่างกัน ในแต่ละเซลล์จะมียีนที่ควบคุมหลายๆตัว ถ้ายีนตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติไปก็อาจจะทำให้เซลล์ผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายของสัตว์มีความผิดปกติไป
            การตัดต่อพันธุกรรม หรือที่เรียกเป็นภาษานักวิชาการว่า พันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) นั้น เป็นเทคนิคที่นักวิทยาศาสตร์ใส่ยีนที่ต้องการเข้าไปเพิ่ม (Gene insertion) หรือลบยีนที่ต้องการออก (Gene deletion) สัตว์ที่ได้รับการตัดต่อ หรือ ลบยีนที่ไม่ต้องการออก จะเรียกว่า จีเอ็มโอ หรือ GMO = Genetic modified organism ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่มีการต่อต้านกันพอสมควรทั่วโลก
            นอกจากการตัดต่อแล้วยังมีเทคโนโลยีอีกอย่างที่เรียกว่า การแก้ไขยีน (Gene editing) ถามว่าทำไมต้องแก้ไขยีน ก็เพราะว่า สัตว์หรือคนที่เกิดมาบางครั้งมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ป่วยเป็นโรค นักวิทยาศาสตร์ก็เลยบอกว่า ถ้าความผิดปกติเกิดที่ยีนเราก็ต้องแก้ที่ยีน ผิดตรงไหนเราก็ไปแก้ตรงนั้น  พูดเหมือนง่ายแต่ก็ยากไม่ใช่เล่นเหมือนกันครับ
            การลบพันธุกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นไปยังการทำการทดลองเพื่อศึกษาหน้าที่ของยีน แต่สำหรับการนำไปใช้ในคนกับสัตว์ ก็คือการลบยีนที่เป็นอันตรายและก่อโรคออกไป
            การเพิ่มพันธุกรรมจะทำในสองกรณี กรณีหนึ่งเพื่อการทดลองศึกษาหน้าที่ของยีนนั้น หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ เพื่อรักษาโรคทางพันธุกรรมที่มีการเสียหายของยีนเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถใช้วิธีซ่อมแซมแก้ไขยีนได้
            ในสัตว์เลี้ยงจำพวกแมว มีความพยายามอ้างว่าสามารถลบยีนที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ในคนได้ โดยบริษัท FeliPets ของประเทศสหรัฐอเมริกา อ้างว่าได้ทำการลบยีน Fel D1 ของแมวออก  แต่อย่างไรการอ้างอิงนี้ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าแมวตัวนั้นถูกลบยีนไปจริงหรือไม่ เพราะทางบริษัทไม่ยอมให้ทดสอบ และเจ้าของบริษัทก็ดูเหมือนจะถูกฟ้องร้องจากผู้เสียหายอยู่หลายคน
            ที่ประเทศเกาหลี นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเกาหลี (Seoul National University) ได้ทำการใส่ยีนแสงสีเขียว (GFP; green fluorescent protein) และสีแดง (RFP; red fluorescent protein) ซึ่งเป็นสีที่เรียกว่าฟลูออเรสเซนต์เข้าไปในสุนัข และแมว ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่า ก็ดีสิตอนกลางคืนจะได้มองเห็นน้องหมาน้องแมวได้ชัดหน่อย แต่จริงๆแล้วการจะมองเห็นสีเขียวและแดงของฟลูออเรสเซ้นต์นั้นได้ ต้องใช้แสงยูวีส่องแล้วมองด้วยกล้องฟลูออเรสเซ้นต์ก่อนถึงจะมองเห็นได้ ซึ่งก็คาดว่าจะเอาไว้ใช้ในการทดลองมากกว่าจะนำมาใช้กับสุนัขและแมวที่บ้าน สำหรับ GFP นั้นจริงๆเป็นโปรตีนที่พบได้ในแมงกระพรุนชนิดหนึ่ง



เขาสร้างสัตว์เลี้ยงตัดต่อพันธุกรรมสัตว์เลี้ยงอย่างไร
            เริ่มแรกนักวิทยาศาสตร์ต้องสร้างยีนขึ้นมาในห้องทดลองก่อน แล้วจึงนำไปใส่ไว้ในตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยง การใส่ยีนเข้าไปในตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงก็มีอยู่ 3 วิธี
·         วิธีแรก ก็คือฉีดยีนเข้าไปในนิวเคลียสผ่านเข็มขนาดเล็กมาก นิวเคลียสเป็นที่อยู่ของสารพันธุกรรม เครื่องมือที่ใช้ฉีดจะเรียกว่า micromanipulator ซี่งจะเป็นกล้องจุลทรรศน์เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่คล้ายกับมือของหุ่นยนต์ เราจะบังคับเข็มด้วยจอยสติ๊กเหมือนที่เล่นเกมส์ ลูกสัตว์ที่ได้ก็จะมีเซลล์ที่ตัดต่อยีนแล้วประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์
·         วิธีที่สอง ก็คือทำการตัดต่อยีนผ่านเซลล์ต้นกำเนิดที่เรียกว่า อีเอสเซลล์ แล้วหลังจากนั้นนำอีเอสเซลล์ไปฉีดเข้าไปในตัวอ่อนในระยะใกล้ฝังตัว ด้วยเครื่อง micromanipulator อีเอสเซลล์ก็จะผสมรวมกับเซลล์ตัวอ่อน ลูกสัตว์ที่ได้ก็จะมีเซลล์ที่มีการตัดต่อยีนร่วมกับเซลล์ที่ปกติไม่เกินอัตราส่วน 50/50
·         วิธีที่สาม ก็คือ การโคลนนิ่ง เอานิวเคลียสของไข่ออก แล้วเอานิวเคลียสของเซลล์ที่ผ่านการตัดต่อยีนเข้าไปใส่แทน (ส่วนใหญ่เซลล์ที่ใช้จะเป็นอีเอสเซลล์) โดยใช้เครื่อง micromanipulator

เมื่อได้ตัวอ่อนที่ผ่านการตัดต่อยีนแล้ว ก็นำตัวอ่อนที่ได้เอาไปฝากไว้ที่แม่ตัวรับที่ฉีดฮอร์โมนรองรับการตั้งท้องอยู่



ประโยชน์ของเซลล์ต้นกำเนิดตัดต่อพันธุกรรม
เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดสามารถที่จะปลูกถ่ายเข้าไปเนื้อเยื่อแล้วสร้างเซลล์ใหม่ๆขึ้นมา จึงมีแนวคิดที่จะตัดต่อพันธุกรรมของเซลล์ต้นกำเนิดก่อนนำไปปลูกถ่าย ในม้า ได้มีการทดลองการตัดต่อพันธุกรรมเซลล์ต้นกำเนิดก่อนนำไปใช้ในการรักษาโรคกล้ามเนื้อ กระดูก และเอ็นพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในนักวิจัย มุ่งเป้าใช้การตัดต่อพันธุกรรมรักษาโรคทางพันธุกรรมหลายชนิด โดยฉพาะโรคเลือด เช่น ทาลัสซีเมีย ซึ่งยังอยู่ในขั้นการทดลอง ในสุนัขมีการทดลองใช้วิธีการตัดต่อยีนในการรักษาโรคจอตาเสื่อม โรคเบาหวาน พบว่าได้ผลดีเช่นกัน

แต่เนื่องจากการตัดต่อพันธุกรรมนั้นไม่ได้มีแต่ข้อดี แต่ยังมีผลข้างเคียงด้วย เช่น อาจก่อให้เกิดมะเร็งในเนื้อเยื่อหลายชนิดด้วย หากการตัดต่อยีนไม่แม่นยำ นอกจากนี้ก็ยังมีการต่อต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยอยู่พอสมควร จากกลุ่มที่อ้างอิงถึงศีลธรรมจริยธรรม  และจากกลุ่มต่อต้าน GMO ทุกชนิด และถ้าใครอยากจะซื้อสัตว์เลี้ยงตัดต่อพันธุกรรมมาเลี้ยงก็คงจะเป็นไปได้ยากซักหน่อยครับ เพราะส่วนใหญ่มีไว้สำหรับทำการศึกษาวิจัยเพื่อรักษาโรคกัน ส่วนไอ้ที่ขายกัน เช่นแมวตัดต่อพันธุกรรมไม่ก่อโรคภูมิแพ้ นั้นก็น่าจะเป็นการลวงโลก หรือย้อมแมวขาวมากกว่าเป็นความจริงครับ

Friday 16 January 2015

ไอพีเอสเซลล์: เซลล์มหัศจรรย์จากฝีมือมนุษย์

ไอพีเอสเซลล์: เซลล์มหัศจรรย์จากฝีมือมนุษย์

เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
ปัจจุบันนี้โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่มากมาย แต่จะมีไม่กี่โรคที่การแพทย์ของเราสามารถรักษาให้หายขาดได้ หลายโรคทำได้แค่บรรเทาอาการ และมีมากมายที่ยังหาทางรักษาไม่ได้หรือหาสาเหตุของการเกิดโรคไม่ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคอัมพาต โรคไต และโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่พบมากทั้งในสัตว์และคน โรคเหล่านี้เป็นโรคที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะสามารถนำไอพีเอสเซลล์มาช่วยในการรักษาโรคได้
ไอพีเอสเซลล์ (iPS cells) ซึ่งย่อมาจากคำว่า induce pluripotent stem cell คำว่า pluripotent stem cell (PS cells) นั้นหมายถึงเซลล์ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์เกือบทุกชนิดในร่างกาย ยกเว้น เซลล์จำพวกรกแค่นั้นเอง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความเชื่อว่าเราจะสามารถใช้เซลล์นี้ช่วยในการรักษาโรคที่หายยากหรือไม่มีทางรักษาในปัจจุบันได้  ซึ่ง PS cell นั้นเราจะพบได้ในตัวอ่อนระยะฝังตัวในมดลูกเท่านั้น โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถที่จะนำ PS cell จากตัวอ่อนออกมาเลี้ยงในห้องทดลองเพื่อเพิ่มจำนวนได้อย่างไม่จำกัด แต่เนื่องจากวิธีการที่จะเอาเซลล์ออกมาจากตัวอ่อนนั้นจะทำให้ตัวอ่อนเสียชีวิตไป ดังนั้นจึงไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกันเท่าไรนัก เพราะเหมือนกับเป็นการฆ่าเด็กที่อาจจะเกิดมานั่นเอง
ไอพีเอสเซลล์ถูกสร้างขึ้นมาจากทีมนักวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์จากประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าทีมวิจัยก็คือ ศ.ชินยะ ยามานากะ (Prof.Shinya Yamanaka) นักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์ และจากงานวิจัยที่เขาทำก็ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (Nobel Prize in Physiology or Medicine)
ไอพีเอสเซลล์นั้นเป็นเซลล์ที่มีคุณสมบัติเหมือน PS cell เกือบทุกประการ แต่กระบวนการสร้างไม่ได้เกิดจากการทำลายตัวอ่อน แต่ใช้วิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพหรือพันธุวิศวกรรมสร้างขึ้นมา เรียกง่ายๆก็คือเป็นเซลล์ที่ไม่ได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ จึงทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างมากในทางจริยธรรมและศีลธรรมหลักการทำก็คือ นำเซลล์ของร่างกายผู้ป่วยหรือผู้บริจาคมาผ่านกระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพหรือพันธุวิศวกรรมเปลี่ยนแปลงให้เป็นไอพีเอสเซลล์
การใช้ไอพีเอสเซลล์ในการรักษาโรคนั้นคาดว่าสามารถนำมาใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้สี่ทางคือ
·         ใช้ไอพีเอสเซลล์ในการตรวจหายาใหม่ที่นำมาใช้ในการรักษาโรค
·         ใช้ไอพีเอสเซลล์ในการหากลไกหรือสาเหตุการเกิดโรค
·         ใช้ไอพีเอสเซลล์ทดแทนเซลล์ที่เสียหาย
·         ใช้ไอพีเอสเซล์ในการสร้างอวัยวะ หรือเนื้อเยื่อใหม่ในห้องทดลองก่อนปลูกถ่ายกลับเข้าไปในผู้ป่วย
โรคหัวใจในสัตว์นั้นจะทำให้สุนัขเหนื่อยง่าย และอาจทำให้หัวใจวายจนสัตว์เสียชีวิตได้ การรักษาโรคหัวใจในสุนัขส่วนใหญ่เป็นการรักษาด้วยยาเพื่อบรรเทาอาการในแต่ละปี การผลิตยาขึ้นมาใหม่แต่ละครั้งอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่ด้วยไอพีเอสเซลล์เราสามารถที่จะผลิตเซลล์หัวใจขึ้นมาในห้องทดลองเป็นปริมาณที่มาก แล้วนำเซลล์เหล่านั้นไปทดสอบยาใหม่ๆ ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะร่นระยะเวลาของการผลิตยาได้เร็วขึ้น อาจจะเป็นแค่ 1-5 ปี ก็เป็นไปได้
โรคเบาหวาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด เซลล์ที่ปกติเหล่านี้ไม่ยอมสร้างอินซูลินทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูง ถ้าสูงมากอาจทำให้สุนัขและแมวโรคนี้ที่ป่วยอาจช็อคตายได้  เป้าหมายของการใช้ไอพีเอสเซลล์ในการรักษาโรคเบาหวานก็คือ เปลี่ยนแปลงไอพีเอสเซลล์ให้เป็นเซลล์ตับอ่อนที่สร้างอินซูลินได้แล้วปลูกถ่ายกลับเข้าไปในสัตว์ แล้วหวังว่าเซลล์เหล่านั้นจะอาศัยอยู่ในตับอ่อน และสร้างอินซูลินขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพไป
โรคไตเรื้อรังในสุนัขนั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้ สิ่งที่สัตวแพทย์ทำได้นั้นก็แค่บรรเทาอาการของโรคด้วยการให้ยา ให้น้ำเกลือ หรือทำการฟอกไตเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้เรียกว่าจะนับวันรอความตายก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เป้าหมายในการใช้ไอพีเอสเซลล์เพื่อรักษาโรคไตมีอยู่ 2 ทางคือ เปลี่ยนแปลงไอพีเอสเซลล์ให้เป็นเซลล์ไตแล้วปลูกถ่ายที่ไตโดยตรง หรือทำการสร้างไตเทียมขึ้นมาโดยใช้ไอพีเอสเซลล์

โดยสรุปแล้วไอพีเอสเซลล์นั้นดูจะมีประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์และสัตวแพทย์ แต่การใช้ไอพีเอสเซลล์นั้น ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นการทดลองยังไม่ได้นำมาใช้ทางคลินิก ข้อเสียอย่างหนึ่งของไอพีเอสเซลล์ในขณะนี้ก็คือ มันมีคุณสมบัติของเซลล์มะเร็งอยู่ และหากจะนำไปใช้ต้องกระตุ้นเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นเซลล์ที่เราจะใช้ก่อน เช่น เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์หัวใจ หรือเซลล์ตับอ่อนก่อน และถ้าหากในการรักษาแบบปลูกถ่ายในแต่ละครั้งนั้น มีการปนเปื้อนของไอพีเอสเซลล์ที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง สัตว์ก็อาจจะป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นมาอีกโรคได้