Pages

Sunday 7 June 2015

ปลวก...สัตว์ที่น่ารังเกียจ

  เมื่อพูดถึง ปลวก ผมเชื่อว่าหลายคนคงขยะแขยง และรังเกียจปลวก บางครั้งคนไทยยังใช้คำว่าปลวกมาด่า ต่อว่า คนที่พวกเขารังเกียจด้วย วันนี้เรามาทำความรู้จักปลวกกันครับ
ปลวก ภาษาอังกฤษเรียกว่า termite เป็นสัตว์ที่มีหน้าที่สำคัญทางนิเวศน์วิทยา โดยทำหน้าที่ย่อยสลาย ต้นไม้ และสิ่งมีชีวิตที่เน่าเสีย หากไม่มีปลวก โลกเราก็คงเต็มไปด้วยซากตกไม้ ซากสัตว์และขยะชีวภาพมากมาย นอกจากนี้ปลวกยังเป็นสัตว์ที่สำคัญของห่วงโซ่อาหาร โดยจะเป็นอาหารของพวก กบ และนกด้วย


ในประเทศไทยพบปลวกอยู่ประมาณ 200 ชนิด แต่จะมีแค่ 10 ชนิดเท่านั้น ที่เข้าทำลายอาคารบ้านเรือน
ปลวกเป็นสัตว์สังคม มีการแบ่งแยกหน้าที่กันทำงานอย่างชัดเจน และทุกตัวก็มีการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีที่คนเราควรจะเลียนแบบปลวก เราสามารถแบ่งปลวกเป็น 3 วรรณะ หรือเรียกง่ายว่า 3 ลำดับทางสังคมก็ได้ครับ
  • วรรณะกรรมกร หรือ ปลวกงาน ทำหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยงปลวกอื่นๆ ดูแลรักษาไข่ สร้างรัง เป็นประชากรที่มากที่สุดของปลวก (90 เปอร์เซ็นต์) 
  • วรรณะทหาร ทำหน้าที่ปกป้องรัง และชายแดนของปลวก มีเขี้ยวที่แข็งแร็งมาก
  • วรรณะสืบพันธุ์ ก็จะแบ่งเป็น  ตัวอ่อนที่รอเป็นแมลงเม่า (nymph) แมลงเม่า ราชินี และราชาปลวก แมลงเม่าเป็นระยะที่ปลวกมีปีกบินออกจากรังเพื่อผสมพันธุ์ หนึ่งในนั้นก็จะกลายเป็นราชา และราชินีปลวก เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
                                                             


ปลวกสามารถทำลายอะไรได้บ้าง
  • ต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่
  • ผลิตภัณฑ์จากไม้ อาคาร ส่ิ่งก่อสร้าง
  • กระดาษ และพลาสติก
  • ถึงแม้ปลวกจะไม่กินปูน แต่มันก็มีพลังมากพอที่จะกัดกร่อนปูนเพื่อทำเป็นทางเดินเพือหาอาหาร
จุดอ่อนของปลวกคือผิวมันบอบบาง หากมันสัมผัสกับแสงและอากาศสักพักก็จะตาย ดังนั้นปลวกจะต้องเอาดิน เอาไม้ที่มันย่อยแล้วมาทำเป็นทางเดินเพื่อปกป้องมัน



ว่ากันว่า ที่ได้มีไม้ มี แมงเม่า สักพักก็จะมีปลวก ดังนั้น การกำจัดและป้องกันปลวกต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะมันจะกลับมากินบ้านเรา เมื่อมันมีโอกาส



รวบรวมข้อมูล โดย 
อ.ดร.น.สพ.เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล








เอกสารและข้อมูลอ้างอิง






Tuesday 7 April 2015

เซลล์ต้นกำเนิดกับการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ได้สัตว์เลี้ยงไฮเทค

เซลล์ต้นกำเนิดกับการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ได้สัตว์เลี้ยงไฮเทค
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน

            ในร่างกายของคนเรานั้นประกอบไปด้วยอวัยวะหลายๆชิ้นมาประกอบกัน ภายในอวัยวะนั้นก็จะมีเซลล์หลายชนิดอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่มาก และภายในเซลล์นั้นจะมี พันธุกรรม (Genome) เป็นหน่วยเล็กๆในเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของเซลล์ และหน่วยเล็กในพันธุกรรมจะมีชื่อเรียกว่า ยีน ซึ่งมีอยู่หลายยีน แต่ละยีนก็มีหน้าที่แตกต่างกัน ในแต่ละเซลล์จะมียีนที่ควบคุมหลายๆตัว ถ้ายีนตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติไปก็อาจจะทำให้เซลล์ผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายของสัตว์มีความผิดปกติไป
            การตัดต่อพันธุกรรม หรือที่เรียกเป็นภาษานักวิชาการว่า พันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) นั้น เป็นเทคนิคที่นักวิทยาศาสตร์ใส่ยีนที่ต้องการเข้าไปเพิ่ม (Gene insertion) หรือลบยีนที่ต้องการออก (Gene deletion) สัตว์ที่ได้รับการตัดต่อ หรือ ลบยีนที่ไม่ต้องการออก จะเรียกว่า จีเอ็มโอ หรือ GMO = Genetic modified organism ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่มีการต่อต้านกันพอสมควรทั่วโลก
            นอกจากการตัดต่อแล้วยังมีเทคโนโลยีอีกอย่างที่เรียกว่า การแก้ไขยีน (Gene editing) ถามว่าทำไมต้องแก้ไขยีน ก็เพราะว่า สัตว์หรือคนที่เกิดมาบางครั้งมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ป่วยเป็นโรค นักวิทยาศาสตร์ก็เลยบอกว่า ถ้าความผิดปกติเกิดที่ยีนเราก็ต้องแก้ที่ยีน ผิดตรงไหนเราก็ไปแก้ตรงนั้น  พูดเหมือนง่ายแต่ก็ยากไม่ใช่เล่นเหมือนกันครับ
            การลบพันธุกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นไปยังการทำการทดลองเพื่อศึกษาหน้าที่ของยีน แต่สำหรับการนำไปใช้ในคนกับสัตว์ ก็คือการลบยีนที่เป็นอันตรายและก่อโรคออกไป
            การเพิ่มพันธุกรรมจะทำในสองกรณี กรณีหนึ่งเพื่อการทดลองศึกษาหน้าที่ของยีนนั้น หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ เพื่อรักษาโรคทางพันธุกรรมที่มีการเสียหายของยีนเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถใช้วิธีซ่อมแซมแก้ไขยีนได้
            ในสัตว์เลี้ยงจำพวกแมว มีความพยายามอ้างว่าสามารถลบยีนที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ในคนได้ โดยบริษัท FeliPets ของประเทศสหรัฐอเมริกา อ้างว่าได้ทำการลบยีน Fel D1 ของแมวออก  แต่อย่างไรการอ้างอิงนี้ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าแมวตัวนั้นถูกลบยีนไปจริงหรือไม่ เพราะทางบริษัทไม่ยอมให้ทดสอบ และเจ้าของบริษัทก็ดูเหมือนจะถูกฟ้องร้องจากผู้เสียหายอยู่หลายคน
            ที่ประเทศเกาหลี นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเกาหลี (Seoul National University) ได้ทำการใส่ยีนแสงสีเขียว (GFP; green fluorescent protein) และสีแดง (RFP; red fluorescent protein) ซึ่งเป็นสีที่เรียกว่าฟลูออเรสเซนต์เข้าไปในสุนัข และแมว ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่า ก็ดีสิตอนกลางคืนจะได้มองเห็นน้องหมาน้องแมวได้ชัดหน่อย แต่จริงๆแล้วการจะมองเห็นสีเขียวและแดงของฟลูออเรสเซ้นต์นั้นได้ ต้องใช้แสงยูวีส่องแล้วมองด้วยกล้องฟลูออเรสเซ้นต์ก่อนถึงจะมองเห็นได้ ซึ่งก็คาดว่าจะเอาไว้ใช้ในการทดลองมากกว่าจะนำมาใช้กับสุนัขและแมวที่บ้าน สำหรับ GFP นั้นจริงๆเป็นโปรตีนที่พบได้ในแมงกระพรุนชนิดหนึ่ง



เขาสร้างสัตว์เลี้ยงตัดต่อพันธุกรรมสัตว์เลี้ยงอย่างไร
            เริ่มแรกนักวิทยาศาสตร์ต้องสร้างยีนขึ้นมาในห้องทดลองก่อน แล้วจึงนำไปใส่ไว้ในตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยง การใส่ยีนเข้าไปในตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงก็มีอยู่ 3 วิธี
·         วิธีแรก ก็คือฉีดยีนเข้าไปในนิวเคลียสผ่านเข็มขนาดเล็กมาก นิวเคลียสเป็นที่อยู่ของสารพันธุกรรม เครื่องมือที่ใช้ฉีดจะเรียกว่า micromanipulator ซี่งจะเป็นกล้องจุลทรรศน์เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่คล้ายกับมือของหุ่นยนต์ เราจะบังคับเข็มด้วยจอยสติ๊กเหมือนที่เล่นเกมส์ ลูกสัตว์ที่ได้ก็จะมีเซลล์ที่ตัดต่อยีนแล้วประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์
·         วิธีที่สอง ก็คือทำการตัดต่อยีนผ่านเซลล์ต้นกำเนิดที่เรียกว่า อีเอสเซลล์ แล้วหลังจากนั้นนำอีเอสเซลล์ไปฉีดเข้าไปในตัวอ่อนในระยะใกล้ฝังตัว ด้วยเครื่อง micromanipulator อีเอสเซลล์ก็จะผสมรวมกับเซลล์ตัวอ่อน ลูกสัตว์ที่ได้ก็จะมีเซลล์ที่มีการตัดต่อยีนร่วมกับเซลล์ที่ปกติไม่เกินอัตราส่วน 50/50
·         วิธีที่สาม ก็คือ การโคลนนิ่ง เอานิวเคลียสของไข่ออก แล้วเอานิวเคลียสของเซลล์ที่ผ่านการตัดต่อยีนเข้าไปใส่แทน (ส่วนใหญ่เซลล์ที่ใช้จะเป็นอีเอสเซลล์) โดยใช้เครื่อง micromanipulator

เมื่อได้ตัวอ่อนที่ผ่านการตัดต่อยีนแล้ว ก็นำตัวอ่อนที่ได้เอาไปฝากไว้ที่แม่ตัวรับที่ฉีดฮอร์โมนรองรับการตั้งท้องอยู่



ประโยชน์ของเซลล์ต้นกำเนิดตัดต่อพันธุกรรม
เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดสามารถที่จะปลูกถ่ายเข้าไปเนื้อเยื่อแล้วสร้างเซลล์ใหม่ๆขึ้นมา จึงมีแนวคิดที่จะตัดต่อพันธุกรรมของเซลล์ต้นกำเนิดก่อนนำไปปลูกถ่าย ในม้า ได้มีการทดลองการตัดต่อพันธุกรรมเซลล์ต้นกำเนิดก่อนนำไปใช้ในการรักษาโรคกล้ามเนื้อ กระดูก และเอ็นพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในนักวิจัย มุ่งเป้าใช้การตัดต่อพันธุกรรมรักษาโรคทางพันธุกรรมหลายชนิด โดยฉพาะโรคเลือด เช่น ทาลัสซีเมีย ซึ่งยังอยู่ในขั้นการทดลอง ในสุนัขมีการทดลองใช้วิธีการตัดต่อยีนในการรักษาโรคจอตาเสื่อม โรคเบาหวาน พบว่าได้ผลดีเช่นกัน

แต่เนื่องจากการตัดต่อพันธุกรรมนั้นไม่ได้มีแต่ข้อดี แต่ยังมีผลข้างเคียงด้วย เช่น อาจก่อให้เกิดมะเร็งในเนื้อเยื่อหลายชนิดด้วย หากการตัดต่อยีนไม่แม่นยำ นอกจากนี้ก็ยังมีการต่อต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยอยู่พอสมควร จากกลุ่มที่อ้างอิงถึงศีลธรรมจริยธรรม  และจากกลุ่มต่อต้าน GMO ทุกชนิด และถ้าใครอยากจะซื้อสัตว์เลี้ยงตัดต่อพันธุกรรมมาเลี้ยงก็คงจะเป็นไปได้ยากซักหน่อยครับ เพราะส่วนใหญ่มีไว้สำหรับทำการศึกษาวิจัยเพื่อรักษาโรคกัน ส่วนไอ้ที่ขายกัน เช่นแมวตัดต่อพันธุกรรมไม่ก่อโรคภูมิแพ้ นั้นก็น่าจะเป็นการลวงโลก หรือย้อมแมวขาวมากกว่าเป็นความจริงครับ

Friday 16 January 2015

ไอพีเอสเซลล์: เซลล์มหัศจรรย์จากฝีมือมนุษย์

ไอพีเอสเซลล์: เซลล์มหัศจรรย์จากฝีมือมนุษย์

เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
ปัจจุบันนี้โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่มากมาย แต่จะมีไม่กี่โรคที่การแพทย์ของเราสามารถรักษาให้หายขาดได้ หลายโรคทำได้แค่บรรเทาอาการ และมีมากมายที่ยังหาทางรักษาไม่ได้หรือหาสาเหตุของการเกิดโรคไม่ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคอัมพาต โรคไต และโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่พบมากทั้งในสัตว์และคน โรคเหล่านี้เป็นโรคที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะสามารถนำไอพีเอสเซลล์มาช่วยในการรักษาโรคได้
ไอพีเอสเซลล์ (iPS cells) ซึ่งย่อมาจากคำว่า induce pluripotent stem cell คำว่า pluripotent stem cell (PS cells) นั้นหมายถึงเซลล์ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์เกือบทุกชนิดในร่างกาย ยกเว้น เซลล์จำพวกรกแค่นั้นเอง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความเชื่อว่าเราจะสามารถใช้เซลล์นี้ช่วยในการรักษาโรคที่หายยากหรือไม่มีทางรักษาในปัจจุบันได้  ซึ่ง PS cell นั้นเราจะพบได้ในตัวอ่อนระยะฝังตัวในมดลูกเท่านั้น โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถที่จะนำ PS cell จากตัวอ่อนออกมาเลี้ยงในห้องทดลองเพื่อเพิ่มจำนวนได้อย่างไม่จำกัด แต่เนื่องจากวิธีการที่จะเอาเซลล์ออกมาจากตัวอ่อนนั้นจะทำให้ตัวอ่อนเสียชีวิตไป ดังนั้นจึงไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกันเท่าไรนัก เพราะเหมือนกับเป็นการฆ่าเด็กที่อาจจะเกิดมานั่นเอง
ไอพีเอสเซลล์ถูกสร้างขึ้นมาจากทีมนักวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์จากประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าทีมวิจัยก็คือ ศ.ชินยะ ยามานากะ (Prof.Shinya Yamanaka) นักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์ และจากงานวิจัยที่เขาทำก็ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (Nobel Prize in Physiology or Medicine)
ไอพีเอสเซลล์นั้นเป็นเซลล์ที่มีคุณสมบัติเหมือน PS cell เกือบทุกประการ แต่กระบวนการสร้างไม่ได้เกิดจากการทำลายตัวอ่อน แต่ใช้วิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพหรือพันธุวิศวกรรมสร้างขึ้นมา เรียกง่ายๆก็คือเป็นเซลล์ที่ไม่ได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ จึงทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างมากในทางจริยธรรมและศีลธรรมหลักการทำก็คือ นำเซลล์ของร่างกายผู้ป่วยหรือผู้บริจาคมาผ่านกระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพหรือพันธุวิศวกรรมเปลี่ยนแปลงให้เป็นไอพีเอสเซลล์
การใช้ไอพีเอสเซลล์ในการรักษาโรคนั้นคาดว่าสามารถนำมาใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้สี่ทางคือ
·         ใช้ไอพีเอสเซลล์ในการตรวจหายาใหม่ที่นำมาใช้ในการรักษาโรค
·         ใช้ไอพีเอสเซลล์ในการหากลไกหรือสาเหตุการเกิดโรค
·         ใช้ไอพีเอสเซลล์ทดแทนเซลล์ที่เสียหาย
·         ใช้ไอพีเอสเซล์ในการสร้างอวัยวะ หรือเนื้อเยื่อใหม่ในห้องทดลองก่อนปลูกถ่ายกลับเข้าไปในผู้ป่วย
โรคหัวใจในสัตว์นั้นจะทำให้สุนัขเหนื่อยง่าย และอาจทำให้หัวใจวายจนสัตว์เสียชีวิตได้ การรักษาโรคหัวใจในสุนัขส่วนใหญ่เป็นการรักษาด้วยยาเพื่อบรรเทาอาการในแต่ละปี การผลิตยาขึ้นมาใหม่แต่ละครั้งอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่ด้วยไอพีเอสเซลล์เราสามารถที่จะผลิตเซลล์หัวใจขึ้นมาในห้องทดลองเป็นปริมาณที่มาก แล้วนำเซลล์เหล่านั้นไปทดสอบยาใหม่ๆ ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะร่นระยะเวลาของการผลิตยาได้เร็วขึ้น อาจจะเป็นแค่ 1-5 ปี ก็เป็นไปได้
โรคเบาหวาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด เซลล์ที่ปกติเหล่านี้ไม่ยอมสร้างอินซูลินทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูง ถ้าสูงมากอาจทำให้สุนัขและแมวโรคนี้ที่ป่วยอาจช็อคตายได้  เป้าหมายของการใช้ไอพีเอสเซลล์ในการรักษาโรคเบาหวานก็คือ เปลี่ยนแปลงไอพีเอสเซลล์ให้เป็นเซลล์ตับอ่อนที่สร้างอินซูลินได้แล้วปลูกถ่ายกลับเข้าไปในสัตว์ แล้วหวังว่าเซลล์เหล่านั้นจะอาศัยอยู่ในตับอ่อน และสร้างอินซูลินขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพไป
โรคไตเรื้อรังในสุนัขนั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้ สิ่งที่สัตวแพทย์ทำได้นั้นก็แค่บรรเทาอาการของโรคด้วยการให้ยา ให้น้ำเกลือ หรือทำการฟอกไตเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้เรียกว่าจะนับวันรอความตายก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เป้าหมายในการใช้ไอพีเอสเซลล์เพื่อรักษาโรคไตมีอยู่ 2 ทางคือ เปลี่ยนแปลงไอพีเอสเซลล์ให้เป็นเซลล์ไตแล้วปลูกถ่ายที่ไตโดยตรง หรือทำการสร้างไตเทียมขึ้นมาโดยใช้ไอพีเอสเซลล์

โดยสรุปแล้วไอพีเอสเซลล์นั้นดูจะมีประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์และสัตวแพทย์ แต่การใช้ไอพีเอสเซลล์นั้น ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นการทดลองยังไม่ได้นำมาใช้ทางคลินิก ข้อเสียอย่างหนึ่งของไอพีเอสเซลล์ในขณะนี้ก็คือ มันมีคุณสมบัติของเซลล์มะเร็งอยู่ และหากจะนำไปใช้ต้องกระตุ้นเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นเซลล์ที่เราจะใช้ก่อน เช่น เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์หัวใจ หรือเซลล์ตับอ่อนก่อน และถ้าหากในการรักษาแบบปลูกถ่ายในแต่ละครั้งนั้น มีการปนเปื้อนของไอพีเอสเซลล์ที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง สัตว์ก็อาจจะป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นมาอีกโรคได้


Friday 14 November 2014

เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ เซลล์ยอดนิยมที่ใช้รักษาโรคในสัตว์

เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ เซลล์ยอดนิยมที่ใช้รักษาโรคในสัตว์
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
            สวัสดีครับ วันนี้มาคุยกันต่อถึงเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ (Mesenchymal stem cell) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเพียงหนึ่งเดียวที่นิยมใช้ในการรักษาโรคในสัตว์เลี้ยง เช่น ในสุนัข และม้าครับ
เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ คืออะไร
คำว่ามีเซนไคม์ (mesenchyme)นั้นหมายถึง เนื้อเยื่อของตัวอ่อน ซึ่งจะสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปเป็น เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) และเนื้อเยื่อกระดูก เนื้อเยื่อเกี่ยวพันนั้นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอวัยวะเกือบทุกชนิดในร่างกาย และ ดังนั้นเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ก็จะสามารถพบได้ในเกือบทุกอวัยวะครับแต่ในปริมาณที่แตกต่างกัน
รักษาโรคอะไรได้บ้าง
ถึงแม้ได้มีการทดลองการใช้เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ในการรักษาโรคหลายชนิดทั้งในคนและในสัตว์ แต่ในคนนั้นยังไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะแตกต่างจากในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและม้า ที่ได้มีการนำเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์มาใช้แล้วอย่างแพร่หลายโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป สำหรับในเมืองไทยสัตวแพทย์ไทยก็ได้เริ่มนำเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์มาใช้กันบ้างแล้ว
สัตวแพทย์ได้มีการนำเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์มาใช้อย่างเป็นทางการในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับโรคกระดูก โรคข้อ โรคกล้ามเนื้อ โรคเอ็น และโรคภูมิแพ้ ในสุนัข เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ใช้ในการรักษาโรคข้อ สะโพกเสื่อม และข้อเข่าเสื่อม ในม้า ใช้เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ในการรักษาโรค เช่น โรคกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ช่วยให้กระดูกที่หักหายเร็วขึ้น
คุณสมบัติในการรักษาโรคของเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์
เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มันจะมีความสามารถในการต่อต้านการอักเสบ กระตุ้นการซ่อมแซมของอวัยวะและเนื้อเยื่อ ทำให้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์เข้าไปในบริเวณที่มีการอักเสบอาจส่งผลให้ลดการอักเสบและกระตุ้นการซ่อมแซมในบริเวณนั้นได้ดีขึ้น นอกจากนี้เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ยังมีความเป็นมิตรกับเซลล์ภูมิคุ้มกันทำให้เราสามารถปลูกถ่ายจากผู้ให้ไปยังผู้รับได้ง่ายกว่าเซลล์ชนิดอืนๆ
เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์หาได้จากที่ไหน
ในการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์มาใช้นั้น มักจะทำการเก็บมาจากเนื้อเยื่อไขกระดูก เนื้อเยื่อไขมัน และสายสะดือของสัตว์แรกเกิด การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์จากไขกระดูกและไขมันจะต้องทำการวางยาสลบสัตว์หรือวางยาชาเฉพาะที่ การดูดเซลล์จากไขกระดูกนั้นจะต้องใช้เข็มขนาดใหญ่และยาว ภายหลังการดูด สัตว์อาจมีอาการเจ็บอยู่เป็นอาทิตย์ได้ การเก็บเซลล์จากไขมันต้องใช้การผ่าตัดทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ และการวางยาสลบนั้นจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตของสัตว์มากขึ้น แต่ทั้งการเก็บเซลล์จากไขกระดูกและไขมันนั้นมีความจำเป็นในกรณีที่เราต้องการใช้เซลล์สัตว์ที่ป่วยนั้นรักษาตัวเอง ส่วนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือลูกสัตว์แรกคลอด น่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และคาดว่าอาจจะนำมาใช้ในการเก็บสะสมเซลล์ต้นกำเนิดไว้ในธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อใช้ในการรักษาสัตว์ตัวอื่นๆได้ในอนาคตอันใกล้
การเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์รักษาโรค
การใช้เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ในการรักษาโรคนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้แต่เซลล์ต้นกำเนิดอย่างเดียวแต่จะให้ร่วมกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคตามปกติ แต่หน้าที่ของเซลล์ต้นกำเนิดก็คือลดการอักเสบ และกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมตัวเอง ทำให้สัตว์หายเร็วขึ้น
โรคข้อสะโพกเสื่อมในสุนัขนั้น พบมากในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น พันธุ์เซนเบอร์นาร์ด พันธุ์เยอรมันเชฟเพิร์ด พันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ โดยให้ทานยาแก้อักเสบทุกวัน ซึ่งจะส่งผลเสียกับอวัยวะในร่างกายได้ การใช้เซลล์ต้นกำเนิดก็จะเป็นการช่วยบรรเทาอาการ เป็นการลดใช้ยาแก้อักเสบหรืออาจจะไม่ต้องใช้ยาแก้อักเสบอีกเลย

ความเจ็บป่วยในม้ามักเกิดจากการวิ่งแข่ง ก็จะมีโรคกระดูกหัก โรคข้ออักเสบ โรคเอ็นฉีกขาด การรักษาโรคเหล่านั้น ก็ประกอบไปด้วยการผ่าตัด การใช้ยาแก้อักเสบ ซึ่งจะเกิดความเสี่ยงต่อชีวิตของม้า การใช้เซลล์ต้นกำเนิดก็จะลดความเสี่ยงเหล่านั้นลงไป เพราะม้าจะไม่ต้องผ่าตัด จะทำให้ม้าหายเร็วขึ้น ก็จะทำให้มันกลับมาวิ่งเร็วขึ้น  และเมื่อสัตว์หายเร็วขึ้น มันก็กลับมามีความสุขอีกครั้ง และเจ้าของก็มีความสุขครับ

Sunday 8 June 2014

เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด: เซลล์วิเศษ หรือไม่

เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด: เซลล์วิเศษ หรือไม่
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน

                ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมากันแล้วไม่ว่าจะทางสื่อโทรทัศน์ หรือหนังสือต่างๆ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ทีท่านได้ยินหรือได้อ่านมาก็จะเป็นเรื่องราวของคนกันครับ มาวันนี้ลองมาทำความเข้าใจกับเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในสัตว์เลี้ยงกันบ้างครับ
            เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดคืออะไร


เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Haematopoietic stem cell) นั้นเป็นเซลล์ตั้งต้น หรือจะเรียกว่า เป็นพ่อแม่ของเซลล์เม็ดเลือดแดง (red blood cell) และเม็ดเลือดขาว (white blood cell) ในร่างกายก็ว่าได้  เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้นมีหน้าที่เพิ่มจำนวน และเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว รวมทั้งเกล็ดเลือด (platelet) หลังจากนั้นเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด จะออกจากไขกระดูกเพื่อกระจายไปตามส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อทำหน้าที่ของมัน
 โดยเซลล์เม็ดเลือดแดงนั้นจะทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจน เพื่อไปเลี้ยงเซลล์อื่นๆในร่างกาย (เซลล์ทุกชนิดต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในการอยู่รอด และทำงานให้สมบูรณ์ในร่างกาย) ส่วนเซลล์เม็ดเลือดขาวนั้นจะทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อต้านสิ่งแปลกปลอมรวมทั้งเชื้อโรคที่เข้ามาสู่ร่างกายของเรา เกล็ดเลือดนั้นจะช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดเราหยุดไหลเวลาที่เกิดเลือดออก  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้นถือเป็นเซลล์ที่มีความสำคัญมากในร่างกาย ถ้าเกิดความผิดปกติไปก็จะทำให้สัตว์เสียชีวิตได้ครับ
                เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในร่างกายสัตว์นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบในคนและสามารถพบได้ในสองแห่ง หนึ่งก็คือ ที่ไขกระดูก (bone marrow) และอีกที่ก็คือ ทีสายสะดือของสัตว์แรกเกิด
                การรักษาโรคด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด 
จริงๆแล้วเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคใดๆได้โดยตรง แต่จะใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆในการรักษาโรค สำหรับโรคที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการทั่วโลกที่สามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดร่วมกันในการรักษาโรคก็คือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวเท่านั้น เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukaemia) โรคไขกระดูกเสื่อม เป็นต้น
                โรคความผิดปกติของเม็ดเลือด และไขกระดูก นั้นสามารถพบได้ทั้งในสัตว์เลี้ยงและในคนครับ ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคนี้ทั้งสัตว์และคนก็จะคล้ายๆกันก็คือ ส่วนใหญ่ก็มีอาการซีด ติดเชื้อง่าย เลือดออกง่าย และอาจพบจ้ำเลือดตามส่วนต่างๆของร่างกาย เป็นต้น สำหรับการรักษาโรคจะใช้หลักการคือ กำจัดเซลล์เก่าที่ผิดปกติไปและปลูกถ่ายเซลล์ใหม่เข้าไปแทน
การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการช่วยในการรักษาโรคในสัตว์เลี้ยงนั้นในปัจจุบันมีการทำแค่ในสุนัขเท่านั้นครับโดยเป็นเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากไขกระดูก และเท่าที่มีการรายงานก็จะทำที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราวๆ ล้านกว่าบาทครับ
ขั้นตอนในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากไขกระดูกในการรักษาโรค
ในเกือบทุกขั้นตอนของการรักษาสุนัขอาจจะต้องวางยาสลบ หรือยาซึมเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยที่สุดครับ โดยมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1การกำจัดเซลล์เก่าที่ผิดปกติ
จะมี 2 วิธี คือ การใช้รังสีรักษา (Radiotherapy) หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า การฉายแสง และการใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่คนไทยเรียกว่าการฉีดยาคีโม
ขั้นตอนที่ 2 การเก็บเซลล์ต้นกำเนิด
การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเพื่อการรักษานั้นปัจจุบันใช้วิธี การเก็บโดยตรงจาก ไขกระดูก วิธีนี้จะทำได้เร็ว แต่เจ็บ หรือ เก็บจากกระแสเลือด โดยวิธีนี้สุนัขจะไม่ค่อยเจ็บ แต่จะต้องมีการฉีดยากระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดออกมาที่กระแสเลือดเยอะๆ และจะต้องมีเครื่องมือราคาแพงช่วยในการเก็บเซลล์
ขั้นตอนที่ 3 การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
ขั้นตอนนี้เป็นการปล่อยเซลล์ต้นกำเนิดสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ เพื่อไปทดแทนเซลล์เก่า
ขั้นตอนที่ 4 การพักฟื้น
การพักฟื้นจะต้องทำในโรงพยาบาลใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน หรือมากกว่านั้น จนกว่าสุนัขจะแข็งแรงกลับบ้านได้
ขั้นตอนที่ 5 การติดตามการรักษา
เมื่อสุนัขกลับบ้านแล้ว ก็จะได้รับยาไปกิน และจะต้องกลับมาตรวจร่างกายเป็นประจำ
                ความเสี่ยงในการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
ความเสี่ยงในการรักษานั้นที่สำคัญมีอยู่ในสองขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก คือการกำจัดเซลล์เก่า เพราะการฉายแสงหรือการทำคีโมนั้นไม่ได้ทำแค่เซลล์ที่ผิดปกติตายเท่านั้น แต่จะทำให้เซลล์ปกติหลายชนิดทั้งที่อยู่ที่ไขกระดูกและอวัยวะอื่นเสียหายด้วย ดังนั้นสัตว์ป่วยที่ได้รับการรักษาจะค่อนข้างอ่อนแอและมีอาการข้างเคียงเยอะ เช่น ผิวแห้ง ผมร่วง อาเจียน และท้องเสีย เป็นต้น บางครั้งสัตว์ก็อาจจะเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดได้
        ขั้นตอนที่เสี่ยงอันดับที่สองก็คือ ความเข้ากันของเซลล์ต้นกำเนิด ในบางกรณีเราสามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดของสุนัขที่ป่วยมารักษาตัวเองได้ วิธีนี้ก็จะลดความเสี่ยงตรงนี้ไป แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะต้องใช้เซลล์ต้นกำเนิดของสุนัขตัวอื่น ที่เป็นพี่น้องกันครับ โดยจะต้องมีการทดสอบทางห้องทดลองก่อนว่ามีความเข้ากันหรือไม่อย่างไร เพราะโอกาสที่จะเข้ากัน (คำว่าเข้ากันนั้นหมายความว่ามีความปลอดภัยอยู่สูงครับ) นั้นก็มีอยู่ประมาณ 1 ใน 4 ครับ ก็จะประมาณว่า ถ้ามีพี่น้องอยู่ 4 ตัว ก็อาจจะเจอ 1 ตัว ที่เซลล์ต้นกำเนิดเข้ากันได้ครับ ถ้าไม่เข้ากันแล้วปลูกถ่ายก็จะเกิดการต่อต้านจากร่างกายได้ส่งผลให้สุนัขเสียชีวิตได้ในที่สุด
                ระวังโฆษณาเกินจริง
สิ่งที่ต้องแจ้งให้กับผู้อ่านได้เข้าใจกันนะครับ ก็มีอยู่ สองสามอย่างครับ
1.       ประเทศไทยยังไม่มี หรือไม่สามารถรักษาสุนัขด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนะครับ
2.       การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากสายสะดือแช่แข็งไว้ใช้ในอนาคตยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการสัตวแพทย์นะครับ
3.       เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดรักษาได้แต่โรคเม็ดเลือดนะครับ โรคอื่นยังไม่เป็นที่ยอมรับกัน และถ้าหากเอาไปใช้มีความเสี่ยงสูงครับ





Saturday 12 October 2013

เซลล์บำบัด Cell therapy
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
อโรคยา ปารมาลาภา การไม่เป็นโรค ถือเป็นลาภอันประเสริฐ น่าจะเป็นความปราถนาของทั้งตัวคนทุกคน รวมทั้งท่านเจ้าของสัตว์ทุกท่าน แต่การที่เราจะมีชีวิตโดยไม่มีโรคนั้นไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆครับ
สำหรับโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายของคนเรา และสัตว์เลี้ยงนี้ถ้าแบ่งง่ายก็จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ครับ
·         โรคภัยไข้เจ็บประเภทที่ 1 ก็คือ โรคที่เกิดจาก เชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือ พยาธิ เป็นต้น โรคที่เกิดจากเชื้อโรค ที่รู้จักกันดีก็พวก โรคหวัด โรคติดเชื้อต่างๆครับ โรคพวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะรักษาได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อครับ บางโรคก็ไม่ต้องรักษาก็หายเองได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
·         โรคภัยไข้เจ็บประเภทที่ 2 ก็คือ โรคที่ไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคไต โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้นครับ โรคพวกนี้การรักษาจะแตกต่างกันออกไป บ้างก็ต้องใช้ยา บ้างก็ใช้การผ่าตัด ก็มีหายบ้างไม่หายบ้าง ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และก็มีอีกมากมายหลายโรคที่ไม่สามารถรักษาได้เลย การใช้เซลล์บำบัดก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการรักษาโรคประเภทนี้
เซลล์บำบัด คือการรักษาโรคด้วยเซลล์ เซลล์” (Cell) เป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดในร่างกายมนุษย์ หลายๆเซลล์เมื่อมาอยู่รวมกันก็จะเรียกว่า เนื้อเยื่อ” (Tissue) เมื่อหลายๆเนื้อเยื่อมาอยู่รวมกันก็เรียกว่า อวัยวะ” (Organ) และเมื่ออวัยวะมาอยู่รวมกัน ก็เกิดสิ่งที่ว่าร่างกาย” (Body) ขึ้นมาครับ
ยกตัวอย่าง เช่น “เซลล์ประสาท” หลายชนิดรวมๆกันเรียกว่า “เนื้อเยื่อประสาท” และเมื่อเนื้อเยื่อประสาทรวมกับเนื้อเยื่ออื่น เช่น เนื้อเยื่อเส้นเลือด เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ก็จะรวมกันเป็น อวัยวะที่เรียกกันว่า “สมอง” และเมื่อสมอง รวมกับอวัยวะอื่น เช่น เลือด หัวใจ ตับ ไต ลำไส้ ก็เกิดเป็น “ร่างกาย”นั้นเองครับ
ด้วยหลักการที่ว่าโรคหลายๆโรคที่เกิดขึ้นในร่างกายนั้นเกิดจากเซลล์เสื่อม ผิดปกติ หรือตาย การรักษาด้วยเซลล์บำบัดก็คือการนำเซลล์ที่ปกติมาทดแทนเซลล์ที่หายไป ที่เสีย หรือเสื่อมไปนั่นเอง
คราวนี้เรามาดูกันว่าเซลล์อะไรบ้างที่เอามารักษาโรคได้ เซลล์ที่เอามารักษาโรคแบ่งออกได้เป็นสามชนิดแบบง่ายๆดังนี้ครับ
·         เซลล์ต้นกำเนิด หรือ ที่มักเรียกกันว่า สเต็มเซลล์ (Stem cell) เป็นเซลล์ที่คนกล่าวถึงมากที่สุดในปัจจุบันนี้ เซลล์ต้นกำเนิดนั้นมีหลายระดับครับ สามารถแบ่งย่อย ออกมาได้สองแบบคือ
o   เซลล์ต้นกำเนิดที่มีคุณสมบัติคล้ายตัวอ่อน (Pluripotent stem cell) มีคุณสมบัติคือ จะสามารถถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนแปลง เป็นเซลล์เกือบทุกชนิดในร่างกาย สามารถพบได้ในตัวอ่อนระยะฝังตัวในมดลูก หรือสามารถกระตุ้นให้เกิดเซลล์นี้ด้วยเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม
o   เซลล์ต้นกำเนิดของเนื้อเยื่อ (Tissue stem cell) เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่พบได้ทั่วไปในร่างกายของคนหรือสัตว์ที่เกิดมาแล้ว บางครั้งเราจะเรียกกันว่า เซลล์ต้นกำเนิดผู้ใหญ่ (Adult stem cell) ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Haematopoietic stem cell) และเซลล์ต้นกำเนิดมีเซ็นไคน์ (Mesenchymal stem cell)
·         เซลล์ต้นแบบ (Progenitor cell) เป็นเซลล์ที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ชนิดอื่นๆได้ต่ำกว่าเซลล์ต้นกำเนิด ข้อดี คือมันจะสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์เป้าหมายได้ดีกว่า และข้อเสียคือ มันจะสามารถเพิ่มปริมาณของเซลล์ได้น้อยกว่าเซลล์ต้นกำเนิด และอาจจะต้องมีการปลูกถ่ายเพิ่มเติม
·         เซลล์ที่จำเพาะ (Terminal differentiated cell) คือ เซลล์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก ข้อดีของการใช้เซลล์ชนิดนี้ก็คือ มันเป็นเซลล์ที่เราต้องการแน่ๆ 100% แต่ข้อเสียก็คือ มันมักจะเพิ่มจำนวนไม่ได้ และมีอายุจำกัด หลังจากการปลูกถ่าย และต้องการการปลูกถ่ายเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง
ถามว่าเซลล์พวกนี้เอามาจากไหน บ้างก็เอามาจากตัวผู้ป่วยเอง บ้างก็เอามาจากผู้บริจาคที่เซลล์สามารถเข้ากันได้ สำหรับวิธีการนำเซลล์เข้าไปรักษาในร่างกาย เรามักจะเรียกกันว่าการปลูกถ่าย ก็มี 2 แบบ คือ
·         ฉีดเซลล์เข้าไปที่อวัยวะหรือบริเวณที่เราต้องการรักษา
·         ปล่อยเซลล์เข้าสู่กระแสเลือด แล้วให้เซลล์เดินทางหาอวัยวะเป้าหมายเอง (Homing)
แล้วโรคอะไรในปัจจุบันที่ได้นำมาใช้ในการรักษาโรคในคน และสัตว์อย่างเป็นทางการครับ
·         โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ร่วมในการรักษา
·         โรคกระดูก และกล้ามเนื้อ ใน สุนัข และม้า ใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อมีเซนไคน์
·         โรคตับบางชนิดที่เกิดจากพันธุกรรม ก็จะมีการรักษาด้วย เซลล์จำเพาะ นั่นก็คือเซลล์ตับนั่นเอง

สำหรับโรคอื่นๆที่มักจะได้ยินได้ฟังจากข่าว หรือการประชาสัมพันธุ์ของสถานพยาบาลก็จะเป็นโรคที่ยังอยู่ในขั้นการทดลอง หรือยังไม่ได้ถูกนำมาใช้เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก เดี๋ยวฉบับหน้าเราจะมาคุยกันเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดครับ

เผยแพร่ในสื่อรักสัตว์เลี้ยง ฉบับ มิ.ย 2556