Pages

Saturday 12 October 2013

เซลล์บำบัด Cell therapy
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
อโรคยา ปารมาลาภา การไม่เป็นโรค ถือเป็นลาภอันประเสริฐ น่าจะเป็นความปราถนาของทั้งตัวคนทุกคน รวมทั้งท่านเจ้าของสัตว์ทุกท่าน แต่การที่เราจะมีชีวิตโดยไม่มีโรคนั้นไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆครับ
สำหรับโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายของคนเรา และสัตว์เลี้ยงนี้ถ้าแบ่งง่ายก็จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ครับ
·         โรคภัยไข้เจ็บประเภทที่ 1 ก็คือ โรคที่เกิดจาก เชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือ พยาธิ เป็นต้น โรคที่เกิดจากเชื้อโรค ที่รู้จักกันดีก็พวก โรคหวัด โรคติดเชื้อต่างๆครับ โรคพวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะรักษาได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อครับ บางโรคก็ไม่ต้องรักษาก็หายเองได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
·         โรคภัยไข้เจ็บประเภทที่ 2 ก็คือ โรคที่ไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคไต โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้นครับ โรคพวกนี้การรักษาจะแตกต่างกันออกไป บ้างก็ต้องใช้ยา บ้างก็ใช้การผ่าตัด ก็มีหายบ้างไม่หายบ้าง ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และก็มีอีกมากมายหลายโรคที่ไม่สามารถรักษาได้เลย การใช้เซลล์บำบัดก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการรักษาโรคประเภทนี้
เซลล์บำบัด คือการรักษาโรคด้วยเซลล์ เซลล์” (Cell) เป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดในร่างกายมนุษย์ หลายๆเซลล์เมื่อมาอยู่รวมกันก็จะเรียกว่า เนื้อเยื่อ” (Tissue) เมื่อหลายๆเนื้อเยื่อมาอยู่รวมกันก็เรียกว่า อวัยวะ” (Organ) และเมื่ออวัยวะมาอยู่รวมกัน ก็เกิดสิ่งที่ว่าร่างกาย” (Body) ขึ้นมาครับ
ยกตัวอย่าง เช่น “เซลล์ประสาท” หลายชนิดรวมๆกันเรียกว่า “เนื้อเยื่อประสาท” และเมื่อเนื้อเยื่อประสาทรวมกับเนื้อเยื่ออื่น เช่น เนื้อเยื่อเส้นเลือด เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ก็จะรวมกันเป็น อวัยวะที่เรียกกันว่า “สมอง” และเมื่อสมอง รวมกับอวัยวะอื่น เช่น เลือด หัวใจ ตับ ไต ลำไส้ ก็เกิดเป็น “ร่างกาย”นั้นเองครับ
ด้วยหลักการที่ว่าโรคหลายๆโรคที่เกิดขึ้นในร่างกายนั้นเกิดจากเซลล์เสื่อม ผิดปกติ หรือตาย การรักษาด้วยเซลล์บำบัดก็คือการนำเซลล์ที่ปกติมาทดแทนเซลล์ที่หายไป ที่เสีย หรือเสื่อมไปนั่นเอง
คราวนี้เรามาดูกันว่าเซลล์อะไรบ้างที่เอามารักษาโรคได้ เซลล์ที่เอามารักษาโรคแบ่งออกได้เป็นสามชนิดแบบง่ายๆดังนี้ครับ
·         เซลล์ต้นกำเนิด หรือ ที่มักเรียกกันว่า สเต็มเซลล์ (Stem cell) เป็นเซลล์ที่คนกล่าวถึงมากที่สุดในปัจจุบันนี้ เซลล์ต้นกำเนิดนั้นมีหลายระดับครับ สามารถแบ่งย่อย ออกมาได้สองแบบคือ
o   เซลล์ต้นกำเนิดที่มีคุณสมบัติคล้ายตัวอ่อน (Pluripotent stem cell) มีคุณสมบัติคือ จะสามารถถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนแปลง เป็นเซลล์เกือบทุกชนิดในร่างกาย สามารถพบได้ในตัวอ่อนระยะฝังตัวในมดลูก หรือสามารถกระตุ้นให้เกิดเซลล์นี้ด้วยเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม
o   เซลล์ต้นกำเนิดของเนื้อเยื่อ (Tissue stem cell) เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่พบได้ทั่วไปในร่างกายของคนหรือสัตว์ที่เกิดมาแล้ว บางครั้งเราจะเรียกกันว่า เซลล์ต้นกำเนิดผู้ใหญ่ (Adult stem cell) ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Haematopoietic stem cell) และเซลล์ต้นกำเนิดมีเซ็นไคน์ (Mesenchymal stem cell)
·         เซลล์ต้นแบบ (Progenitor cell) เป็นเซลล์ที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ชนิดอื่นๆได้ต่ำกว่าเซลล์ต้นกำเนิด ข้อดี คือมันจะสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์เป้าหมายได้ดีกว่า และข้อเสียคือ มันจะสามารถเพิ่มปริมาณของเซลล์ได้น้อยกว่าเซลล์ต้นกำเนิด และอาจจะต้องมีการปลูกถ่ายเพิ่มเติม
·         เซลล์ที่จำเพาะ (Terminal differentiated cell) คือ เซลล์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก ข้อดีของการใช้เซลล์ชนิดนี้ก็คือ มันเป็นเซลล์ที่เราต้องการแน่ๆ 100% แต่ข้อเสียก็คือ มันมักจะเพิ่มจำนวนไม่ได้ และมีอายุจำกัด หลังจากการปลูกถ่าย และต้องการการปลูกถ่ายเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง
ถามว่าเซลล์พวกนี้เอามาจากไหน บ้างก็เอามาจากตัวผู้ป่วยเอง บ้างก็เอามาจากผู้บริจาคที่เซลล์สามารถเข้ากันได้ สำหรับวิธีการนำเซลล์เข้าไปรักษาในร่างกาย เรามักจะเรียกกันว่าการปลูกถ่าย ก็มี 2 แบบ คือ
·         ฉีดเซลล์เข้าไปที่อวัยวะหรือบริเวณที่เราต้องการรักษา
·         ปล่อยเซลล์เข้าสู่กระแสเลือด แล้วให้เซลล์เดินทางหาอวัยวะเป้าหมายเอง (Homing)
แล้วโรคอะไรในปัจจุบันที่ได้นำมาใช้ในการรักษาโรคในคน และสัตว์อย่างเป็นทางการครับ
·         โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ร่วมในการรักษา
·         โรคกระดูก และกล้ามเนื้อ ใน สุนัข และม้า ใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อมีเซนไคน์
·         โรคตับบางชนิดที่เกิดจากพันธุกรรม ก็จะมีการรักษาด้วย เซลล์จำเพาะ นั่นก็คือเซลล์ตับนั่นเอง

สำหรับโรคอื่นๆที่มักจะได้ยินได้ฟังจากข่าว หรือการประชาสัมพันธุ์ของสถานพยาบาลก็จะเป็นโรคที่ยังอยู่ในขั้นการทดลอง หรือยังไม่ได้ถูกนำมาใช้เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก เดี๋ยวฉบับหน้าเราจะมาคุยกันเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดครับ

เผยแพร่ในสื่อรักสัตว์เลี้ยง ฉบับ มิ.ย 2556

No comments:

Post a Comment