Pages

Saturday 12 October 2013

เซลล์บำบัด Cell therapy
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
อโรคยา ปารมาลาภา การไม่เป็นโรค ถือเป็นลาภอันประเสริฐ น่าจะเป็นความปราถนาของทั้งตัวคนทุกคน รวมทั้งท่านเจ้าของสัตว์ทุกท่าน แต่การที่เราจะมีชีวิตโดยไม่มีโรคนั้นไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆครับ
สำหรับโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายของคนเรา และสัตว์เลี้ยงนี้ถ้าแบ่งง่ายก็จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ครับ
·         โรคภัยไข้เจ็บประเภทที่ 1 ก็คือ โรคที่เกิดจาก เชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือ พยาธิ เป็นต้น โรคที่เกิดจากเชื้อโรค ที่รู้จักกันดีก็พวก โรคหวัด โรคติดเชื้อต่างๆครับ โรคพวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะรักษาได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อครับ บางโรคก็ไม่ต้องรักษาก็หายเองได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
·         โรคภัยไข้เจ็บประเภทที่ 2 ก็คือ โรคที่ไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคไต โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้นครับ โรคพวกนี้การรักษาจะแตกต่างกันออกไป บ้างก็ต้องใช้ยา บ้างก็ใช้การผ่าตัด ก็มีหายบ้างไม่หายบ้าง ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และก็มีอีกมากมายหลายโรคที่ไม่สามารถรักษาได้เลย การใช้เซลล์บำบัดก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการรักษาโรคประเภทนี้
เซลล์บำบัด คือการรักษาโรคด้วยเซลล์ เซลล์” (Cell) เป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดในร่างกายมนุษย์ หลายๆเซลล์เมื่อมาอยู่รวมกันก็จะเรียกว่า เนื้อเยื่อ” (Tissue) เมื่อหลายๆเนื้อเยื่อมาอยู่รวมกันก็เรียกว่า อวัยวะ” (Organ) และเมื่ออวัยวะมาอยู่รวมกัน ก็เกิดสิ่งที่ว่าร่างกาย” (Body) ขึ้นมาครับ
ยกตัวอย่าง เช่น “เซลล์ประสาท” หลายชนิดรวมๆกันเรียกว่า “เนื้อเยื่อประสาท” และเมื่อเนื้อเยื่อประสาทรวมกับเนื้อเยื่ออื่น เช่น เนื้อเยื่อเส้นเลือด เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ก็จะรวมกันเป็น อวัยวะที่เรียกกันว่า “สมอง” และเมื่อสมอง รวมกับอวัยวะอื่น เช่น เลือด หัวใจ ตับ ไต ลำไส้ ก็เกิดเป็น “ร่างกาย”นั้นเองครับ
ด้วยหลักการที่ว่าโรคหลายๆโรคที่เกิดขึ้นในร่างกายนั้นเกิดจากเซลล์เสื่อม ผิดปกติ หรือตาย การรักษาด้วยเซลล์บำบัดก็คือการนำเซลล์ที่ปกติมาทดแทนเซลล์ที่หายไป ที่เสีย หรือเสื่อมไปนั่นเอง
คราวนี้เรามาดูกันว่าเซลล์อะไรบ้างที่เอามารักษาโรคได้ เซลล์ที่เอามารักษาโรคแบ่งออกได้เป็นสามชนิดแบบง่ายๆดังนี้ครับ
·         เซลล์ต้นกำเนิด หรือ ที่มักเรียกกันว่า สเต็มเซลล์ (Stem cell) เป็นเซลล์ที่คนกล่าวถึงมากที่สุดในปัจจุบันนี้ เซลล์ต้นกำเนิดนั้นมีหลายระดับครับ สามารถแบ่งย่อย ออกมาได้สองแบบคือ
o   เซลล์ต้นกำเนิดที่มีคุณสมบัติคล้ายตัวอ่อน (Pluripotent stem cell) มีคุณสมบัติคือ จะสามารถถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนแปลง เป็นเซลล์เกือบทุกชนิดในร่างกาย สามารถพบได้ในตัวอ่อนระยะฝังตัวในมดลูก หรือสามารถกระตุ้นให้เกิดเซลล์นี้ด้วยเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม
o   เซลล์ต้นกำเนิดของเนื้อเยื่อ (Tissue stem cell) เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่พบได้ทั่วไปในร่างกายของคนหรือสัตว์ที่เกิดมาแล้ว บางครั้งเราจะเรียกกันว่า เซลล์ต้นกำเนิดผู้ใหญ่ (Adult stem cell) ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Haematopoietic stem cell) และเซลล์ต้นกำเนิดมีเซ็นไคน์ (Mesenchymal stem cell)
·         เซลล์ต้นแบบ (Progenitor cell) เป็นเซลล์ที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ชนิดอื่นๆได้ต่ำกว่าเซลล์ต้นกำเนิด ข้อดี คือมันจะสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์เป้าหมายได้ดีกว่า และข้อเสียคือ มันจะสามารถเพิ่มปริมาณของเซลล์ได้น้อยกว่าเซลล์ต้นกำเนิด และอาจจะต้องมีการปลูกถ่ายเพิ่มเติม
·         เซลล์ที่จำเพาะ (Terminal differentiated cell) คือ เซลล์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก ข้อดีของการใช้เซลล์ชนิดนี้ก็คือ มันเป็นเซลล์ที่เราต้องการแน่ๆ 100% แต่ข้อเสียก็คือ มันมักจะเพิ่มจำนวนไม่ได้ และมีอายุจำกัด หลังจากการปลูกถ่าย และต้องการการปลูกถ่ายเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง
ถามว่าเซลล์พวกนี้เอามาจากไหน บ้างก็เอามาจากตัวผู้ป่วยเอง บ้างก็เอามาจากผู้บริจาคที่เซลล์สามารถเข้ากันได้ สำหรับวิธีการนำเซลล์เข้าไปรักษาในร่างกาย เรามักจะเรียกกันว่าการปลูกถ่าย ก็มี 2 แบบ คือ
·         ฉีดเซลล์เข้าไปที่อวัยวะหรือบริเวณที่เราต้องการรักษา
·         ปล่อยเซลล์เข้าสู่กระแสเลือด แล้วให้เซลล์เดินทางหาอวัยวะเป้าหมายเอง (Homing)
แล้วโรคอะไรในปัจจุบันที่ได้นำมาใช้ในการรักษาโรคในคน และสัตว์อย่างเป็นทางการครับ
·         โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ร่วมในการรักษา
·         โรคกระดูก และกล้ามเนื้อ ใน สุนัข และม้า ใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อมีเซนไคน์
·         โรคตับบางชนิดที่เกิดจากพันธุกรรม ก็จะมีการรักษาด้วย เซลล์จำเพาะ นั่นก็คือเซลล์ตับนั่นเอง

สำหรับโรคอื่นๆที่มักจะได้ยินได้ฟังจากข่าว หรือการประชาสัมพันธุ์ของสถานพยาบาลก็จะเป็นโรคที่ยังอยู่ในขั้นการทดลอง หรือยังไม่ได้ถูกนำมาใช้เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก เดี๋ยวฉบับหน้าเราจะมาคุยกันเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดครับ

เผยแพร่ในสื่อรักสัตว์เลี้ยง ฉบับ มิ.ย 2556

Sunday 30 June 2013

เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อสุขภาพสัตว์ ตอน เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม

เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในสัตว์
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ล้ำหน้าไปมากครับ ทำให้ผู้ป่วยทั้งคนและสัตว์มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายๆโรคที่ยังไม่มีทางรักษา และยังไม่รู้สาเหตุ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ (degenerative disease) โรคเสื่อมที่เกิดจากความชรา (Aging disease) และ โรคทางพันธุกรรมหลายๆโรค (inherited disease)
ดังนั้นการแพทย์ในสมัยใหม่จึงเกิดศาสตร์ใหม่ขึ้นมาที่เรียกกันว่า Regenerative Medicine หรืออาจจะเรียกภาษาไทย เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม หรือการแพทย์เชิงฟื้นฟู นั่นเอง
เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม นั้นคือการรักษาโรคเพื่อการซ่อมแซมเซลล์หรืออวัยวะที่มีการเสื่อมหรือถูกทำลายไป โดยที่โดยขบวนการธรรมชาติแล้วเซลล์หรืออวัยวะที่เสื่อมไปนั้นไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาปกติได้
ถ้าเรามาพูดถึงอวัยวะของร่างกายของคนและสัตว์นั้นส่วนไหนบ้างที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ก็ต้องบอกว่าเกือบทุกส่วนของร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่ความสามารถในการซ่อมแซมนั้นจะไม่เท่ากัน บางอวัยวะมีความสามารถซ่อมแซมตัวเองสูง บางอวัยวะจะมีน้อย หรือไม่มีเลยก็ได้ และเมื่อคนและสัตว์เริ่มแก่ชราความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองก็จะน้อยลงไปด้วย
อวัยวะที่รู้จักกันดีที่สุดในการซ่อมแซมตัวเองก็คือ ผิวหนัง เมื่อผิวหนังขาดไป ก็จะมีการซ่อมแซมตัวเองเพื่อมาปิดแผล ถ้าแผลเล็กการซ่อมแซมก็จะสมบูรณ์ได้ แต่ถ้าแผลใหญ่เกินไปร่างกายก็จะซ่อมแซมตัวเองไม่ไหว แพทย์ก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยการ นำผิวหนังจากส่วนอื่น หรือคนอื่น มาปิดให้
ตับก็เป็นอวัยวะที่มีการซ่อมแซมตัวเองได้สูง ถ้าคนหรือสัตว์ เช่น สุนัข ถูกตับออกไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจเนื่องจากเป็นมะเร็งที่ตับ ภายในไม่กี่สัปดาห์ตับที่เหลือจะซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างเซลล์ขึ้นใหม่ให้กลับมามีขนาดเท่าเดิมได้
ส่วนอวัยวะที่มักซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ หรือไม่ค่อยได้ ก็คือ สมอง ไขสันหลัง หัวใจ ไต เป็นต้น เมื่อเซลล์สมองตายมักไม่เกิดการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ แต่เซลล์ที่เหลืออยู่จะช่วยกันทำงานมากขึ้นเพื่อทดแทนเซลล์ที่เสียไป ดังนั้นอวัยวะเหล่านี้จะเสี่ยงที่จะเกิดการพังหรือล้มเหลวได้ง่ายที่สุด เทียบกับอวัยวะที่มีความสามารถในการซ่อมแซมตังเองได้สูง
ทีนี้เรามาดูกันว่าโรคใดๆในสัตว์เลี้ยง ที่เกี่ยวกับการเสื่อม หรือพันธุกรรม ที่สัตวแพทย์ในปัจจุบันค่อนข้างจะจนปัญญาในการรักษา การรักษาส่วนใหญ่ก็จะใช้การรักษาตามอาการไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือบางโรคอาจจะรักษาไม่ได้เลย
·         โรคกระดูก และข้อเสื่อม เช่น โรคข้อสะโพกเสื่อมในสุนัข โรคข้อเข่าเสื่อมในม้า โรคนี้ก็จะทำให้สัตว์เลี้ยงมีปัญหาในการเดิน และวิ่ง การรักษาในปัจจุบันก็จะใช้ยาแก้อักเสบร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งมีผลข้างเคียงสูง และค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง
·         โรคผิวหนังเนื่องจากภูมิแพ้ ในสุนัขและแมว จะทำให้เกิดอาการคันและขนร่วงอย่างหนัก คุณหมอมักจะให้ยาแก้แพ้มาให้กินตลอดชีวิต และก็จะทำให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่างตามมาจากผลข้างเคียงของการใช้ยา
·         โรคหัวใจ ในสุนัขและแมว สัตว์เลี้ยงที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็จะต้องระวังการออกกำลังกายอย่าให้มากเพราะอาจทำให้หัวใจวายได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการรักษาตามอาการ ส่วนน้อยสามารถใช้การผ่าตัดซ่อมแซมแก้ไขได้ แต่ความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูงมาก
·         โรคอัมพาต เนื่องจากไขสันหลังเสื่อม พบมากในสุนัขและแมวที่ได้รับอุบัติเหตุซึ่งส่วนใหญ่ก็จะถูกรถชน การรักษาด้วยกายภาพบำบัดอาจช่วยให้อาการดีขึ้นมาเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ยังไม่มีวิธีอื่นใดที่ทำให้หายขาดได้ทั้งในคนและในสัตว์
·         โรคเบาหวาน เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่สารที่เรียกกันว่า อินซูลิน สารตัวนี้จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดให้อยู่ในระดับปกติ การมีน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำเกินไปจะไปรบกวนการทำงานของอวัยวะอื่นๆในร่างกาย และส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้
·         โรคไตเสื่อม ไตทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย และดูดซึมสารที่มีประโยชน์กลับไปใช้อีก และถ้าหากไตเสื่อม ของเสียก็จะค้างในร่างกายมาก ส่วนของดีก็จะไหลออกไปกลับปัสสาวะ การรักษาส่วนใหญ่ ก็จะเป็นแบบตามอาการ ร่วมไปกับการฟอกไต นอกจากนี้การผ่าตัดเปลี่ยนไต โดยการรับบริจาคไตที่ดีจากผู้อื่นก็จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อเปลี่ยนไตแล้วไตใหม่จะทำงานได้ปกติดี แต่ข้อเสียก็คือ ร่างกายของผู้ป่วยจะทำการต่อต้านไตที่ปลูกถ่ายใหม่เสมอ และหากการต่อต้านมีมากเกินไปก็จำให้ผู้ป่วย/สัตว์ป่วย เสียชีวิตได้
·         โรคมะเร็งในเม็ดเลือด (Leukemia) เป็นโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ในผู้ป่วยหลายๆรายก็สามารถรักษาได้ โดยด้วยการใช้ยาฆ่ามะเร็ง ที่มักเรียกกันว่า คีโม (chemotherapy) หรือ ฉายรังสี (radiotherapy) ร่วมกับการใช้เซลล์บำบัด (cell therapy) ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในกรรมวิธี regenerative medicine
·         โรคไขกระดูกเสื่อม เซลล์ไขกระดูกนั้นทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าขนถ่ายออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย และผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ดังนั้นถ้าเซลล์ไขกระดูกเสื่อมก็จะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และติดเชื้อโรคได้ง่าย และในท้ายที่สุดก็จะเสียชีวิตได้ การรักษาจะต้องรักษาด้วยการกำจัดเซลล์ไขสันหลังที่เสื่อม ร่วมกับการใช้เซลล์บำบัด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโรคที่ผมได้กล่าวมาเบื้องตนนั้นค่อนข้างเป็นอันตรายและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นแพทย์ สัตวแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ก็ได้พยายามค้นคว้า วิจัย เพื่อใช้แนวทางการรักษาแบบ regenerative medicine ซึ่ง สำหรับการฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในปัจจุบันนั้นก็มีด้วยกันอยู่ 4 วิธีหลักๆ คือ
·         การใช้เซลล์บำบัด (cell therapy)
·         การใช้สารกระตุ้นการฟื้นฟู หรือหยุดการเสื่อม (small molecule and protein therapy)
·         การใช้ยีนต์บำบัด (gene therapy)
·         การสร้างอวัยวะ หรือเนื้อเยื่อในห้องทดลอง (in vitro tissue engineering)

สำหรับรายละเอียดในการรักษานั้นเอาไว้คุยกันในฉบับหน้านะครับ สวัสดีครับ

(หมายเหตุบทความนี้ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารสื่อรักสัตว์เลี้ยงประจำเดือนพฤษภาคม 2556)

Thursday 30 May 2013

About us

อ.น.สพ.ดร.เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
Dr.Tuempong Wongtawan
PhD (College of Medicine and Veterinary Medicine, the University of Edinburgh, UK)
MVM (Faculty of Veterinary Science,  Swedish University of Agricultural Science, Sweden)
Msc (Faculty of Science, Mahidol University, Thailand)
DVM (Faculty of Veterinary Science, Mahidol University, Thailand)