เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในสัตว์
เติมพงศ์
วงศ์ตะวัน
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ล้ำหน้าไปมากครับ
ทำให้ผู้ป่วยทั้งคนและสัตว์มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น
แต่ก็ยังมีอีกหลายๆโรคที่ยังไม่มีทางรักษา และยังไม่รู้สาเหตุ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ
(degenerative disease) โรคเสื่อมที่เกิดจากความชรา
(Aging disease) และ โรคทางพันธุกรรมหลายๆโรค (inherited disease)
ดังนั้นการแพทย์ในสมัยใหม่จึงเกิดศาสตร์ใหม่ขึ้นมาที่เรียกกันว่า Regenerative
Medicine หรืออาจจะเรียกภาษาไทย เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม
หรือการแพทย์เชิงฟื้นฟู นั่นเอง
เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม
นั้นคือการรักษาโรคเพื่อการซ่อมแซมเซลล์หรืออวัยวะที่มีการเสื่อมหรือถูกทำลายไป
โดยที่โดยขบวนการธรรมชาติแล้วเซลล์หรืออวัยวะที่เสื่อมไปนั้นไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาปกติได้
ถ้าเรามาพูดถึงอวัยวะของร่างกายของคนและสัตว์นั้นส่วนไหนบ้างที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้
ก็ต้องบอกว่าเกือบทุกส่วนของร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่ความสามารถในการซ่อมแซมนั้นจะไม่เท่ากัน
บางอวัยวะมีความสามารถซ่อมแซมตัวเองสูง บางอวัยวะจะมีน้อย หรือไม่มีเลยก็ได้
และเมื่อคนและสัตว์เริ่มแก่ชราความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองก็จะน้อยลงไปด้วย
อวัยวะที่รู้จักกันดีที่สุดในการซ่อมแซมตัวเองก็คือ
ผิวหนัง เมื่อผิวหนังขาดไป ก็จะมีการซ่อมแซมตัวเองเพื่อมาปิดแผล
ถ้าแผลเล็กการซ่อมแซมก็จะสมบูรณ์ได้
แต่ถ้าแผลใหญ่เกินไปร่างกายก็จะซ่อมแซมตัวเองไม่ไหว
แพทย์ก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยการ นำผิวหนังจากส่วนอื่น หรือคนอื่น มาปิดให้
ตับก็เป็นอวัยวะที่มีการซ่อมแซมตัวเองได้สูง
ถ้าคนหรือสัตว์ เช่น สุนัข ถูกตับออกไปครึ่งหนึ่ง
ซึ่งอาจเนื่องจากเป็นมะเร็งที่ตับ
ภายในไม่กี่สัปดาห์ตับที่เหลือจะซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างเซลล์ขึ้นใหม่ให้กลับมามีขนาดเท่าเดิมได้
ส่วนอวัยวะที่มักซ่อมแซมตัวเองไม่ได้
หรือไม่ค่อยได้ ก็คือ สมอง ไขสันหลัง หัวใจ ไต เป็นต้น
เมื่อเซลล์สมองตายมักไม่เกิดการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ แต่เซลล์ที่เหลืออยู่จะช่วยกันทำงานมากขึ้นเพื่อทดแทนเซลล์ที่เสียไป
ดังนั้นอวัยวะเหล่านี้จะเสี่ยงที่จะเกิดการพังหรือล้มเหลวได้ง่ายที่สุด
เทียบกับอวัยวะที่มีความสามารถในการซ่อมแซมตังเองได้สูง
ทีนี้เรามาดูกันว่าโรคใดๆในสัตว์เลี้ยง
ที่เกี่ยวกับการเสื่อม หรือพันธุกรรม
ที่สัตวแพทย์ในปัจจุบันค่อนข้างจะจนปัญญาในการรักษา
การรักษาส่วนใหญ่ก็จะใช้การรักษาตามอาการไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
หรือบางโรคอาจจะรักษาไม่ได้เลย
·
โรคกระดูก
และข้อเสื่อม เช่น โรคข้อสะโพกเสื่อมในสุนัข โรคข้อเข่าเสื่อมในม้า โรคนี้ก็จะทำให้สัตว์เลี้ยงมีปัญหาในการเดิน และวิ่ง การรักษาในปัจจุบันก็จะใช้ยาแก้อักเสบร่วมกับการผ่าตัด
ซึ่งมีผลข้างเคียงสูง และค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง
·
โรคผิวหนังเนื่องจากภูมิแพ้
ในสุนัขและแมว จะทำให้เกิดอาการคันและขนร่วงอย่างหนัก
คุณหมอมักจะให้ยาแก้แพ้มาให้กินตลอดชีวิต
และก็จะทำให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่างตามมาจากผลข้างเคียงของการใช้ยา
·
โรคหัวใจ
ในสุนัขและแมว
สัตว์เลี้ยงที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็จะต้องระวังการออกกำลังกายอย่าให้มากเพราะอาจทำให้หัวใจวายได้
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการรักษาตามอาการ ส่วนน้อยสามารถใช้การผ่าตัดซ่อมแซมแก้ไขได้
แต่ความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูงมาก
·
โรคอัมพาต
เนื่องจากไขสันหลังเสื่อม พบมากในสุนัขและแมวที่ได้รับอุบัติเหตุซึ่งส่วนใหญ่ก็จะถูกรถชน
การรักษาด้วยกายภาพบำบัดอาจช่วยให้อาการดีขึ้นมาเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ยังไม่มีวิธีอื่นใดที่ทำให้หายขาดได้ทั้งในคนและในสัตว์
·
โรคเบาหวาน
เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่สารที่เรียกกันว่า อินซูลิน
สารตัวนี้จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
การมีน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำเกินไปจะไปรบกวนการทำงานของอวัยวะอื่นๆในร่างกาย
และส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้
·
โรคไตเสื่อม
ไตทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย และดูดซึมสารที่มีประโยชน์กลับไปใช้อีก
และถ้าหากไตเสื่อม ของเสียก็จะค้างในร่างกายมาก ส่วนของดีก็จะไหลออกไปกลับปัสสาวะ
การรักษาส่วนใหญ่ ก็จะเป็นแบบตามอาการ ร่วมไปกับการฟอกไต
นอกจากนี้การผ่าตัดเปลี่ยนไต
โดยการรับบริจาคไตที่ดีจากผู้อื่นก็จะเป็นทางเลือกสุดท้าย
เมื่อเปลี่ยนไตแล้วไตใหม่จะทำงานได้ปกติดี แต่ข้อเสียก็คือ
ร่างกายของผู้ป่วยจะทำการต่อต้านไตที่ปลูกถ่ายใหม่เสมอ
และหากการต่อต้านมีมากเกินไปก็จำให้ผู้ป่วย/สัตว์ป่วย เสียชีวิตได้
·
โรคมะเร็งในเม็ดเลือด (Leukemia) เป็นโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ในผู้ป่วยหลายๆรายก็สามารถรักษาได้
โดยด้วยการใช้ยาฆ่ามะเร็ง ที่มักเรียกกันว่า คีโม (chemotherapy) หรือ ฉายรังสี (radiotherapy) ร่วมกับการใช้เซลล์บำบัด
(cell therapy) ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในกรรมวิธี regenerative
medicine
·
โรคไขกระดูกเสื่อม เซลล์ไขกระดูกนั้นทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าขนถ่ายออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย
และผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย
ดังนั้นถ้าเซลล์ไขกระดูกเสื่อมก็จะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และติดเชื้อโรคได้ง่าย
และในท้ายที่สุดก็จะเสียชีวิตได้ การรักษาจะต้องรักษาด้วยการกำจัดเซลล์ไขสันหลังที่เสื่อม
ร่วมกับการใช้เซลล์บำบัด
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโรคที่ผมได้กล่าวมาเบื้องตนนั้นค่อนข้างเป็นอันตรายและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ดังนั้นแพทย์ สัตวแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ก็ได้พยายามค้นคว้า วิจัย
เพื่อใช้แนวทางการรักษาแบบ regenerative medicine ซึ่ง สำหรับการฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในปัจจุบันนั้นก็มีด้วยกันอยู่
4 วิธีหลักๆ คือ
·
การใช้เซลล์บำบัด
(cell therapy)
·
การใช้สารกระตุ้นการฟื้นฟู
หรือหยุดการเสื่อม
(small molecule and protein therapy)
·
การใช้ยีนต์บำบัด (gene therapy)
·
การสร้างอวัยวะ
หรือเนื้อเยื่อในห้องทดลอง
(in vitro tissue engineering)
สำหรับรายละเอียดในการรักษานั้นเอาไว้คุยกันในฉบับหน้านะครับ
สวัสดีครับ
(หมายเหตุบทความนี้ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารสื่อรักสัตว์เลี้ยงประจำเดือนพฤษภาคม 2556)
(หมายเหตุบทความนี้ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารสื่อรักสัตว์เลี้ยงประจำเดือนพฤษภาคม 2556)
No comments:
Post a Comment