ไอพีเอสเซลล์: เซลล์มหัศจรรย์จากฝีมือมนุษย์
เติมพงศ์ วงศ์ตะวัน
ปัจจุบันนี้โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่มากมาย
แต่จะมีไม่กี่โรคที่การแพทย์ของเราสามารถรักษาให้หายขาดได้
หลายโรคทำได้แค่บรรเทาอาการ
และมีมากมายที่ยังหาทางรักษาไม่ได้หรือหาสาเหตุของการเกิดโรคไม่ได้ เช่น โรคหัวใจ
โรคอัมพาต โรคไต และโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่พบมากทั้งในสัตว์และคน
โรคเหล่านี้เป็นโรคที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะสามารถนำไอพีเอสเซลล์มาช่วยในการรักษาโรคได้
ไอพีเอสเซลล์ (iPS cells) ซึ่งย่อมาจากคำว่า induce pluripotent stem cell คำว่า pluripotent stem cell (PS cells) นั้นหมายถึงเซลล์ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์เกือบทุกชนิดในร่างกาย
ยกเว้น เซลล์จำพวกรกแค่นั้นเอง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความเชื่อว่าเราจะสามารถใช้เซลล์นี้ช่วยในการรักษาโรคที่หายยากหรือไม่มีทางรักษาในปัจจุบันได้ ซึ่ง PS cell นั้นเราจะพบได้ในตัวอ่อนระยะฝังตัวในมดลูกเท่านั้น โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถที่จะนำ
PS cell จากตัวอ่อนออกมาเลี้ยงในห้องทดลองเพื่อเพิ่มจำนวนได้อย่างไม่จำกัด
แต่เนื่องจากวิธีการที่จะเอาเซลล์ออกมาจากตัวอ่อนนั้นจะทำให้ตัวอ่อนเสียชีวิตไป ดังนั้นจึงไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกันเท่าไรนัก
เพราะเหมือนกับเป็นการฆ่าเด็กที่อาจจะเกิดมานั่นเอง
ไอพีเอสเซลล์ถูกสร้างขึ้นมาจากทีมนักวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์จากประเทศญี่ปุ่น
หัวหน้าทีมวิจัยก็คือ ศ.ชินยะ ยามานากะ (Prof.Shinya
Yamanaka) นักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์
และจากงานวิจัยที่เขาทำก็ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (Nobel Prize in Physiology or Medicine)
ไอพีเอสเซลล์นั้นเป็นเซลล์ที่มีคุณสมบัติเหมือน
PS cell เกือบทุกประการ แต่กระบวนการสร้างไม่ได้เกิดจากการทำลายตัวอ่อน
แต่ใช้วิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพหรือพันธุวิศวกรรมสร้างขึ้นมา เรียกง่ายๆก็คือเป็นเซลล์ที่ไม่ได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ
จึงทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างมากในทางจริยธรรมและศีลธรรมหลักการทำก็คือ นำเซลล์ของร่างกายผู้ป่วยหรือผู้บริจาคมาผ่านกระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพหรือพันธุวิศวกรรมเปลี่ยนแปลงให้เป็นไอพีเอสเซลล์
การใช้ไอพีเอสเซลล์ในการรักษาโรคนั้นคาดว่าสามารถนำมาใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้สี่ทางคือ
·
ใช้ไอพีเอสเซลล์ในการตรวจหายาใหม่ที่นำมาใช้ในการรักษาโรค
·
ใช้ไอพีเอสเซลล์ในการหากลไกหรือสาเหตุการเกิดโรค
·
ใช้ไอพีเอสเซลล์ทดแทนเซลล์ที่เสียหาย
·
ใช้ไอพีเอสเซล์ในการสร้างอวัยวะ
หรือเนื้อเยื่อใหม่ในห้องทดลองก่อนปลูกถ่ายกลับเข้าไปในผู้ป่วย
โรคหัวใจในสัตว์นั้นจะทำให้สุนัขเหนื่อยง่าย
และอาจทำให้หัวใจวายจนสัตว์เสียชีวิตได้ การรักษาโรคหัวใจในสุนัขส่วนใหญ่เป็นการรักษาด้วยยาเพื่อบรรเทาอาการในแต่ละปี
การผลิตยาขึ้นมาใหม่แต่ละครั้งอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่ด้วยไอพีเอสเซลล์เราสามารถที่จะผลิตเซลล์หัวใจขึ้นมาในห้องทดลองเป็นปริมาณที่มาก
แล้วนำเซลล์เหล่านั้นไปทดสอบยาใหม่ๆ ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะร่นระยะเวลาของการผลิตยาได้เร็วขึ้น
อาจจะเป็นแค่ 1-5 ปี ก็เป็นไปได้
โรคเบาหวาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด
เซลล์ที่ปกติเหล่านี้ไม่ยอมสร้างอินซูลินทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูง
ถ้าสูงมากอาจทำให้สุนัขและแมวโรคนี้ที่ป่วยอาจช็อคตายได้ เป้าหมายของการใช้ไอพีเอสเซลล์ในการรักษาโรคเบาหวานก็คือ
เปลี่ยนแปลงไอพีเอสเซลล์ให้เป็นเซลล์ตับอ่อนที่สร้างอินซูลินได้แล้วปลูกถ่ายกลับเข้าไปในสัตว์
แล้วหวังว่าเซลล์เหล่านั้นจะอาศัยอยู่ในตับอ่อน และสร้างอินซูลินขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพไป
โรคไตเรื้อรังในสุนัขนั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้
สิ่งที่สัตวแพทย์ทำได้นั้นก็แค่บรรเทาอาการของโรคด้วยการให้ยา ให้น้ำเกลือ
หรือทำการฟอกไตเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้เรียกว่าจะนับวันรอความตายก็น่าจะเป็นอย่างนั้น
เป้าหมายในการใช้ไอพีเอสเซลล์เพื่อรักษาโรคไตมีอยู่ 2 ทางคือ เปลี่ยนแปลงไอพีเอสเซลล์ให้เป็นเซลล์ไตแล้วปลูกถ่ายที่ไตโดยตรง
หรือทำการสร้างไตเทียมขึ้นมาโดยใช้ไอพีเอสเซลล์
โดยสรุปแล้วไอพีเอสเซลล์นั้นดูจะมีประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์และสัตวแพทย์
แต่การใช้ไอพีเอสเซลล์นั้น ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นการทดลองยังไม่ได้นำมาใช้ทางคลินิก
ข้อเสียอย่างหนึ่งของไอพีเอสเซลล์ในขณะนี้ก็คือ มันมีคุณสมบัติของเซลล์มะเร็งอยู่ และหากจะนำไปใช้ต้องกระตุ้นเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นเซลล์ที่เราจะใช้ก่อน
เช่น เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์หัวใจ หรือเซลล์ตับอ่อนก่อน
และถ้าหากในการรักษาแบบปลูกถ่ายในแต่ละครั้งนั้น มีการปนเปื้อนของไอพีเอสเซลล์ที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง
สัตว์ก็อาจจะป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นมาอีกโรคได้
No comments:
Post a Comment