เซลล์ต้นกำเนิดกับการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ได้สัตว์เลี้ยงไฮเทค
เติมพงศ์
วงศ์ตะวัน
ในร่างกายของคนเรานั้นประกอบไปด้วยอวัยวะหลายๆชิ้นมาประกอบกัน
ภายในอวัยวะนั้นก็จะมีเซลล์หลายชนิดอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่มาก และภายในเซลล์นั้นจะมี
พันธุกรรม (Genome) เป็นหน่วยเล็กๆในเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของเซลล์
และหน่วยเล็กในพันธุกรรมจะมีชื่อเรียกว่า ยีน ซึ่งมีอยู่หลายยีน แต่ละยีนก็มีหน้าที่แตกต่างกัน
ในแต่ละเซลล์จะมียีนที่ควบคุมหลายๆตัว ถ้ายีนตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติไปก็อาจจะทำให้เซลล์ผิดปกติ
ส่งผลให้ร่างกายของสัตว์มีความผิดปกติไป
การตัดต่อพันธุกรรม
หรือที่เรียกเป็นภาษานักวิชาการว่า พันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) นั้น
เป็นเทคนิคที่นักวิทยาศาสตร์ใส่ยีนที่ต้องการเข้าไปเพิ่ม (Gene insertion) หรือลบยีนที่ต้องการออก
(Gene deletion) สัตว์ที่ได้รับการตัดต่อ หรือ ลบยีนที่ไม่ต้องการออก
จะเรียกว่า จีเอ็มโอ หรือ GMO = Genetic modified organism ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่มีการต่อต้านกันพอสมควรทั่วโลก
นอกจากการตัดต่อแล้วยังมีเทคโนโลยีอีกอย่างที่เรียกว่า
การแก้ไขยีน (Gene editing) ถามว่าทำไมต้องแก้ไขยีน
ก็เพราะว่า สัตว์หรือคนที่เกิดมาบางครั้งมีความผิดปกติทางพันธุกรรม
ทำให้ป่วยเป็นโรค นักวิทยาศาสตร์ก็เลยบอกว่า
ถ้าความผิดปกติเกิดที่ยีนเราก็ต้องแก้ที่ยีน ผิดตรงไหนเราก็ไปแก้ตรงนั้น พูดเหมือนง่ายแต่ก็ยากไม่ใช่เล่นเหมือนกันครับ
การลบพันธุกรรมนั้น
ส่วนใหญ่จะเน้นไปยังการทำการทดลองเพื่อศึกษาหน้าที่ของยีน แต่สำหรับการนำไปใช้ในคนกับสัตว์
ก็คือการลบยีนที่เป็นอันตรายและก่อโรคออกไป
การเพิ่มพันธุกรรมจะทำในสองกรณี
กรณีหนึ่งเพื่อการทดลองศึกษาหน้าที่ของยีนนั้น หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ เพื่อรักษาโรคทางพันธุกรรมที่มีการเสียหายของยีนเป็นบริเวณกว้าง
ไม่สามารถใช้วิธีซ่อมแซมแก้ไขยีนได้
ในสัตว์เลี้ยงจำพวกแมว
มีความพยายามอ้างว่าสามารถลบยีนที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ในคนได้ โดยบริษัท FeliPets
ของประเทศสหรัฐอเมริกา อ้างว่าได้ทำการลบยีน Fel D1 ของแมวออก
แต่อย่างไรการอ้างอิงนี้ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าแมวตัวนั้นถูกลบยีนไปจริงหรือไม่
เพราะทางบริษัทไม่ยอมให้ทดสอบ และเจ้าของบริษัทก็ดูเหมือนจะถูกฟ้องร้องจากผู้เสียหายอยู่หลายคน
ที่ประเทศเกาหลี
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเกาหลี (Seoul National University) ได้ทำการใส่ยีนแสงสีเขียว
(GFP; green fluorescent protein) และสีแดง
(RFP; red fluorescent protein) ซึ่งเป็นสีที่เรียกว่าฟลูออเรสเซนต์เข้าไปในสุนัข
และแมว ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่า ก็ดีสิตอนกลางคืนจะได้มองเห็นน้องหมาน้องแมวได้ชัดหน่อย
แต่จริงๆแล้วการจะมองเห็นสีเขียวและแดงของฟลูออเรสเซ้นต์นั้นได้ ต้องใช้แสงยูวีส่องแล้วมองด้วยกล้องฟลูออเรสเซ้นต์ก่อนถึงจะมองเห็นได้
ซึ่งก็คาดว่าจะเอาไว้ใช้ในการทดลองมากกว่าจะนำมาใช้กับสุนัขและแมวที่บ้าน สำหรับ GFP นั้นจริงๆเป็นโปรตีนที่พบได้ในแมงกระพรุนชนิดหนึ่ง
เขาสร้างสัตว์เลี้ยงตัดต่อพันธุกรรมสัตว์เลี้ยงอย่างไร
เริ่มแรกนักวิทยาศาสตร์ต้องสร้างยีนขึ้นมาในห้องทดลองก่อน
แล้วจึงนำไปใส่ไว้ในตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยง การใส่ยีนเข้าไปในตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงก็มีอยู่
3 วิธี
·
วิธีแรก ก็คือฉีดยีนเข้าไปในนิวเคลียสผ่านเข็มขนาดเล็กมาก
นิวเคลียสเป็นที่อยู่ของสารพันธุกรรม เครื่องมือที่ใช้ฉีดจะเรียกว่า micromanipulator
ซี่งจะเป็นกล้องจุลทรรศน์เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่คล้ายกับมือของหุ่นยนต์
เราจะบังคับเข็มด้วยจอยสติ๊กเหมือนที่เล่นเกมส์ ลูกสัตว์ที่ได้ก็จะมีเซลล์ที่ตัดต่อยีนแล้วประมาณ
100 เปอร์เซ็นต์
·
วิธีที่สอง
ก็คือทำการตัดต่อยีนผ่านเซลล์ต้นกำเนิดที่เรียกว่า อีเอสเซลล์
แล้วหลังจากนั้นนำอีเอสเซลล์ไปฉีดเข้าไปในตัวอ่อนในระยะใกล้ฝังตัว ด้วยเครื่อง micromanipulator
อีเอสเซลล์ก็จะผสมรวมกับเซลล์ตัวอ่อน ลูกสัตว์ที่ได้ก็จะมีเซลล์ที่มีการตัดต่อยีนร่วมกับเซลล์ที่ปกติไม่เกินอัตราส่วน
50/50
·
วิธีที่สาม ก็คือ
การโคลนนิ่ง เอานิวเคลียสของไข่ออก แล้วเอานิวเคลียสของเซลล์ที่ผ่านการตัดต่อยีนเข้าไปใส่แทน
(ส่วนใหญ่เซลล์ที่ใช้จะเป็นอีเอสเซลล์) โดยใช้เครื่อง micromanipulator
เมื่อได้ตัวอ่อนที่ผ่านการตัดต่อยีนแล้ว
ก็นำตัวอ่อนที่ได้เอาไปฝากไว้ที่แม่ตัวรับที่ฉีดฮอร์โมนรองรับการตั้งท้องอยู่
ประโยชน์ของเซลล์ต้นกำเนิดตัดต่อพันธุกรรม
เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดสามารถที่จะปลูกถ่ายเข้าไปเนื้อเยื่อแล้วสร้างเซลล์ใหม่ๆขึ้นมา
จึงมีแนวคิดที่จะตัดต่อพันธุกรรมของเซลล์ต้นกำเนิดก่อนนำไปปลูกถ่าย ในม้า ได้มีการทดลองการตัดต่อพันธุกรรมเซลล์ต้นกำเนิดก่อนนำไปใช้ในการรักษาโรคกล้ามเนื้อ
กระดูก และเอ็นพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในนักวิจัย มุ่งเป้าใช้การตัดต่อพันธุกรรมรักษาโรคทางพันธุกรรมหลายชนิด
โดยฉพาะโรคเลือด เช่น ทาลัสซีเมีย ซึ่งยังอยู่ในขั้นการทดลอง ในสุนัขมีการทดลองใช้วิธีการตัดต่อยีนในการรักษาโรคจอตาเสื่อม
โรคเบาหวาน พบว่าได้ผลดีเช่นกัน
แต่เนื่องจากการตัดต่อพันธุกรรมนั้นไม่ได้มีแต่ข้อดี
แต่ยังมีผลข้างเคียงด้วย เช่น อาจก่อให้เกิดมะเร็งในเนื้อเยื่อหลายชนิดด้วย
หากการตัดต่อยีนไม่แม่นยำ นอกจากนี้ก็ยังมีการต่อต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยอยู่พอสมควร
จากกลุ่มที่อ้างอิงถึงศีลธรรมจริยธรรม
และจากกลุ่มต่อต้าน GMO ทุกชนิด
และถ้าใครอยากจะซื้อสัตว์เลี้ยงตัดต่อพันธุกรรมมาเลี้ยงก็คงจะเป็นไปได้ยากซักหน่อยครับ
เพราะส่วนใหญ่มีไว้สำหรับทำการศึกษาวิจัยเพื่อรักษาโรคกัน ส่วนไอ้ที่ขายกัน
เช่นแมวตัดต่อพันธุกรรมไม่ก่อโรคภูมิแพ้ นั้นก็น่าจะเป็นการลวงโลก
หรือย้อมแมวขาวมากกว่าเป็นความจริงครับ